ประกาศข่าว ยังไม่มีข่าวใหม่ครับ

Widgets

ประโยคในภาษาอาหรับ (الكلام)



اَلْكَلاَمُ (ประโยค)  คืออะไร ?
คำว่า  اَلْكَلاَمُ  หรือประโยค หมายถึงคำพูดหรือข้อความที่ประกอบขึ้นจากคำอย่างน้อย 2 คำขึ้นไป  และให้ความหมายบริบูรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
คำว่า  اَلْكَلاَمُ ในวิชาไวยากรณ์อาหรับจะมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า اَلْجُمْلَةُ الْمُفِيْدَةُ  หมายถึง กลุ่มคำที่ให้ประโยชน์ (คือให้ความหมายสมบูรณ์)



อธิบาย
(1).  คำว่า คำพูดหรือข้อความที่ประกอบขึ้นจากคำอย่างน้อย 2 คำขึ้นไป  หมายความว่า สิ่งที่จะเรียกว่า  اَلْكَلاَمُ ได้นั้น จะเป็นข้อความหรือคำเพียงคำเดียวไม่ได้  เพราะผู้ฟังจะไม่เข้าใจความหมายที่สมบูรณ์ชัดเจนของคำเพียงคำเดียวได้
อย่างเช่น คำพูดเพียงคำเดียวว่า  مُحَمَّدٌ  (นายมุหัมมัด)  อย่างนี้ ผู้ฟังย่อมไม่เข้าใจความหมายสมบูรณ์ของมัน จนกว่าผู้พูดจะพูดต่อไปว่า นายมุหัมมัดคือใคร?,  กำลังทำอะไร?,  อยู่ที่ไหน?  เป็นต้น 
การพูดว่า   مُحَمَّدٌ  เพียงคำเดียวจึงเรียกว่าเป็นประโยคหรือ   اَلْكَلاَمُ  ไม่ได้
หรืออย่างการพูดด้วยคำกริยาเพียงคำเดียวว่า  أَكَلَ  (กินแล้ว) อย่างนี้ ผู้ฟังย่อมไม่เข้าใจและมีข้อสงสัยต่อไปว่า  ใครคือผู้กิน ?  เป็นต้น 
การพูดว่า  أَكَلَ  เพียงคำเดียวจึงเรียกว่าเป็น  اَلْكَلاَمُ  ไม่ได้เช่นเดียวกัน

หมายเหตุ    คำ อย่างน้อย 2 คำ ที่จะประกอบขึ้นเป็นประโยคนั้น  อาจเป็น คำนาม (ภาษาอาหรับเรียก  إِسْمٌ) ทั้งสองคำก็ได้,  หรืออาจจะเป็น คำกริยา (ภาษาอาหรับเรียก  فِعْلٌ) คำหนึ่ง,  และเป็น คำนาม อีกคำหนึ่งก็ได้ 
ตัวอย่างประโยคที่ประกอบขึ้นจากคำนาม (إِسْمٌ) ทั้ง 2 คำ
เช่นการพูดว่า   : اَلصُّوْرَةُ جَمِيْلَةٌ  รูปภาพนั้น สวยงาม 
คำว่า  اَلصُّوْرَةُ  (รูปภาพ) เป็นคำนาม,  และคำว่า  جَمِيْلَةٌ (สวยงาม)  ก็เป็นคำนาม
ตัวอย่างประโยคที่ประกอบขึ้นจากคำกริยา (فِعْلٌ) คำหนึ่ง และคำนาม (إِسْمٌ) อีกคำหนึ่ง
เช่นการพูดว่า   نَامَ الطِّفْلُ  :  เด็กทารกนั้น นอนหลับแล้ว
คำว่า  نَامَ  (นอนหลับแล้ว) เป็นคำกริยา  คือคำที่แสดงความหมายว่าเป็นการกระทำ 
ส่วนคำว่า  اَلطِّفْلُ  (เด็กทารก)  เป็นคำนาม 

ข้อสังเกต  
จากตัวอย่างของประโยคแรกที่ว่า   اَلصُّوْرَةُ جَمِيْلَةٌ  ท่านจะสังเกตเห็นได้ว่า คำเริ่มต้นของประโยคนี้ -- คือคำว่า  اَلصُّوْرَةُ  (รูปภาพ) -- เป็นคำนาม 
ประโยคใดๆที่เริ่มต้นด้วยคำนาม อย่างในตัวอย่างนี้  ไวยากรณ์อาหรับจะเรียกประโยคนั้นว่า  جُمْلَةٌ إِسْمِيَّةٌ   คือ ประโยคที่มีคำนามเป็นตัวหลัก 
ส่วนประโยคที่สองที่ว่า   نَامَ الطِّفْلُ   จะเห็นได้ว่า  ประโยคนี้เริ่มต้นด้วยคำว่า  نَامَ (นอนหลับแล้ว) ซึ่งเป็นคำกริยา
ประโยคใดๆที่เริ่มต้นด้วยคำกริยาในลักษณะนี้  ไวยากรณ์อาหรับจะเรียกประโยคนั้นว่า   جُمْلَةٌ فِعْلِيَّةٌ   คือ ประโยคที่มีคำกริยาเป็นตัวหลัก 
(2).  คำว่า ให้ความหมายบริบูรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง  หมายความว่า  สิ่งที่จะเรียกว่าประโยคหรือ  اَلْكَلاَمُ  นั้น  ผู้ฟังจะต้องสามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งได้ โดยไม่มีข้อสงสัยใดๆอีกในความหมายที่เขาต้องการสื่อนั้น
ตัวอย่างเช่น
ชายผู้หนึ่งชี้ให้ท่านแหงนดูบนท้องฟ้าเหนือภูเขาแล้วกล่าวว่า 
     
اَلصَّقْرُ يَحُوْمُ فَوْقَ الْجَبَلِ    :   เหยี่ยวตัวนั้น กำลังบินร่อนอยู่เหนือลูกเขานั้น
ท่านย่อมจะเข้าใจความหมายชัดเจนทันทีว่า  ผู้พูดต้องการสื่อให้รู้ว่า มีนกตัวหนึ่ง คือนกเหยี่ยว  กำลังบินอยู่บนท้องฟ้าเหนือภูเขาลูกนั้น 
หรือเพื่อนที่ไปเยี่ยมคนป่วยที่โรงพยาบาลพร้อมกัน ออกมาบอกผู้ซึ่งยืนรออยู่นอกห้องว่า 
                
 يَنَامُ الْمَرِيْضُ عَلَى السَّرِيْرِ          :  ผู้ป่วยนั้นกำลังนอนหลับอยู่บนเตียง   

อย่างนี้ ท่านก็ย่อมจะเข้าใจในสิ่งที่เขาออกมาบอกได้ทันทีว่า  ผู้ป่วยที่จะมาเยี่ยมนั้น กำลังนอนหลับอยู่บนเตียง  เป็นต้น 

สรุปแล้ว  ข้อความที่จะเรียกว่าเป็น  اَلْكَلاَمُ  ซึ่งผู้ฟังสามารถเข้าใจความหมายได้นั้น  อย่างน้อยจะต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งจาก 3 ลักษณะต่อไปนี้ คือ 
1.  มี ภาคประธาน (ไวยาการณ์อาหรับเรียก مُبْتَدَأٌ) คือคำนามเริ่มต้นประโยค, และ ภาคแสดง (ไวยากรณ์อาหรับเรียก خَبَرٌ) คือ ข้อความซึ่งบอกให้รู้ว่า ประธานคือใคร ?  ทำอะไร ? เป็นต้น 
ตัวอย่างเช่น    مُسَافِرٌ + عَبْدُاللهِ  عَبْدُاللهِ مُسَافِرٌ : (อับดุลลอฮ์ เป็นคนเดินทาง)
คำว่า  عَبْدُاللهِ  เป็นประธาน (مُبْتَدَأٌ) ของประโยค,  ส่วนคำว่า  مُسَافِرٌ  เป็นภาคแสดง (خَبَرٌ) ของประธาน 
2.  มี คำกริยา  (ไวยากรณ์อาหรับเรียก فِعْلٌ) อยู่ข้างหน้า,  และมีคำนามซึ่งเป็น ผู้กระทำ”  (ไวยากรณ์อาหรับเรียก  فَاعِلٌ) อยู่ข้างหลัง 
ตัวอย่างเช่น  عَبْدُاللهِ + سَافَرَ  =   سَافَرَعَبْدُاللهِ  :  (อับดุลลอฮ์ ออกเดินทางแล้ว)
คำว่า  سَافَرَ (ออกเดินทางแล้ว) เป็นคำกริยา (فِعْلٌ) อยู่ข้างหน้า,   ส่วนคำว่า  عَبْدُاللهِ  ข้างหลังเป็น  فَاعِلٌ  คือ ผู้กระทำการเดินทาง 
3.  ถ้า วลีแรกเป็น เงื่อนไข (ไวยากรณ์อาหรับเรียก شَرْطٌ)  ได้แก่คำว่า ถ้า, ถ้าหากว่า,  เมื่อใดก็ตาม,  ที่ใดก็ตาม,  อะไรก็ตาม ฯลฯ  ก็จะต้องมีวลีหลังที่ สนองเงื่อนไข (ไวยากรณ์อาหรับเรียก  جَوَابُ الشَّرْطِ) ด้วย
ตัวอย่างเช่น วลีแรกว่า   إِنْ يُسَافِرْ عَبْدُاللهِ  : (ถ้าอับดุลลอฮ์ ออกเดินทาง)
ก็จะต้องมีวลีที่สนองเงื่อนไข อย่างเช่น  أُسَافِرْمَعَهُ : (ฉันจะเดินทางพร้อมเขาด้วย)


  สรุป : اَلْخُلاَصَةُ

1.  اَلْكَلاَمُ หรือประโยค ก็คือกลุ่มคำพูดหรือคำเขียนที่ประกอบขึ้นจากคำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป โดยผู้ฟังหรือผู้อ่านสามารถจะเข้าใจความหมายอันสมบูรณ์ของมันได้
2.  สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น اَلْكَلاَمُ  อาจเริ่มต้นด้วยคำนามก็ได้  หรือจะเริ่มต้นด้วยคำกริยาก็ได้ 
3.  ประโยค (كَلاَمٌ) ที่เริ่มต้นด้วยคำนาม จะเรียกว่า  جُمْلَةٌ إِسْمِيَّةٌ 
4.  ประโยค (كَلاَمٌ) ที่เริ่มต้นด้วยคำกริยา จะเรียกว่า   جُمْلَةٌ فِعْلِيَّةٌ  
5.  ถ้าคำเริ่มต้นมีลักษณะเป็นเงื่อนไข  ก็จะต้องมีคำที่สนองเงื่อนไขด้วยถึงจะเรียกว่า  كَلاَمٌ ได้ 
ข้อมูลจาก  : หนังสือภาษาอาหรับอย่างง่าย เล่ม 1  โดย อ. ปราโมทย์  ศรีอุทัย  รองประธานฝ่ายวิชาการชมรมมุสลิมภาคใต้ และฝ่ายวิชาการโรงเรียนอัลมูวาห์ฮิดีน



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น