ประกาศข่าว ยังไม่มีข่าวใหม่ครับ

Widgets

PSU-UM ARABIC CAMP II: การพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอาหรับนอกห้องเรียน

     

        คณะมส.ได้มีความพยายามที่จะสร้างความร่วมมือความเข้มแข็งด้านการเรียนการสอนทางภาษาต่างประเทศ โดยพยายามติดต่อประสานงานกับมหาวิทยาลัยหรือองค์กรทั้งในและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ทางภาษาต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


       ภาษาอาหรับก็เป็นอีกหนึ่งภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของคณะมส.ที่มีการเปิดสอนเป็นมหาวิทยาลัยแรก ๆ ของไทย และได้รับความสนใจจากนักศึกษามากพอสมควร โดยเฉพาะนักศึกษาจากพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส การทำกิจกรรมในลักษณะค่ายภาษาก็เป็นที่นิยมในหมู่ผู้เรียนภาษาต่างประเทศ ดังนั้นคณะมส.จึงได้เปิดการเจรจาความร่วมมือกับ UNIVERSITY OF MALAYA ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของมาเลเซียในการจัดค่ายภาษาอาหรับร่วมกัน โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ณ UNIVERSITY OF MALAYA เป็นเวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์ โดยมีนักศึกษาจากทั้งสองสถาบันเข้าร่วมทำกิจกรรมทางภาษา และได้ท่องเที่ยวไปยังสถานที่สำคัญ ๆ ใกล้กับมหาวิทยาลัย


        มาถึงวันนี้ กิจกรรมนี้ก็จัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง โดยใช้ชื่อว่า PSU-UM ARABIC CAMP II ครั้งนี้คณะมส.เป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 11-15 มกราคม 2555 จัดที่จังหวัดสงขลาเป็นหลัก มีนักศึกษาจาก UM จำนวน 22 คน และจากคณะมส.จำนวน 45 คน การจัดค่ายครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคณาจารย์แผนกวิชาภาษาตะวันออก ภาควิชาภาษาตะวันออก การทำกิจกรรมหลัก ๆ ของนักศึกษาเน้นการใช้ทักษะการพูด ฟัง การสื่อสารในชีวิตประจำวัน และมีเกมส์ต่าง ๆ พิธีเปิดได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มกราคม 55 ที่คณะมส.


เรื่องของภาษาอาหรับเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกกับประวัติศาสตร์ของอิสลาม การขยายตัวของอิสลามไปยังที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นการขยายตัวของภาษาอาหรับไปพร้อม ๆ กันด้วย เพราะตามหลักการของอิสลามแล้ว คนที่นับถือศาสนาอิสลามต้องอ่านคำภีร์อัลกุรอ่าน ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ และคำสอนของอิสลามส่วนใหญ่เป็นภาษาอาหรับ ดังนั้นมุสลิมที่สามารถใช้ทักษะทางภาษาอาหรับได้ดี สามารถเข้าถึงหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่เป็นต้นฉบับได้มากกว่า เวลาทำพิธีละหมาดหรือพิธีกรรมอื่น ๆ จะมีความเข้าใจแบบลึกซึ้งมากกว่าผู้ที่ไม่เข้าใจภาษา ด้วยเหตุผลนี้มุสลิมส่วนใหญ่จะเรียนรู้ภาษาอาหรับไม่มากก็น้อย


        ประชากรในโลกนี้ที่ใช้ภาษาอาหรับในการติดต่อสื่อสารกันมีเป็นจำนวนไม่น้อย เฉพาะแถบประเทศตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือส่วนอื่น ๆ ของโลก ล่าสุดผมมีโอกาสไปเมือง NINGXIA  ประเทศจีน ไม่เคยนึกมาก่อนว่าจะมีการใช้ภาษาอาหรับในบริเวณนี้ของโลก แต่สิ่งที่ปรากฎคือ ชื่อถนนหลัก ชื่อร้านอาหารที่เมืองนี้ใช้ภาษาอาหรับกำกับด้านล่างภาษาจีน แสดงให้เห็นว่าภาษาอาหรับก็ได้รับความนิยมจากชาวจีนเช่นกัน ประเทศในตะวันออกกลางไม่นิยมใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่น ยกเว้นภาษาอาหรับ เขารักษาอัตลักษณ์ความเป็นอาหรับได้สูงมาก การทำติดต่อค้าขายกับประชากรในประเทศแถบนี้มีความจำเป็นต้องใช้ภาษาอาหรับเป็นหลัก และเขาจะรู้สึกดีมากถ้าเราสามารถสื่อสารกันเป็นภาษาอาหรับได้


        ในประเทศไทยขณะนี้จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลเอกชนหลาย ๆ แห่ง เช่น รพ.บำรุงราษฎร์ รพ.พญาไท  รพ.กรุงเทพฯ เป็นต้น ได้รับความสนใจจากประเทศอาหรับ ไม่ว่าจะเป็นจากประเทศเอมิเรต โอมาน บาห์เรน การ์ต้า คูเวต เป็นต้น ประเทศเขาค่ารักษาพยาบาลแพงมาก และเทคโนโลยีความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ของไทยพัฒนาได้เร็วกว่า จึงได้รับความสนใจจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มาก ปัญหาคือ คนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถใช้ภาษาอาหรับในการสื่อสารกับผู้ป่วยที่เป็นชาวอาหรับได้เลย จึงเกิดช่องว่างขึ้นในการสื่อสาร ผมมองว่านี่คือโอกาสของบัณฑิตจากแผนกวิชาภาษาอาหรับสามารถเข้าไปเชื่อมช่องว่างนี้ได้ โดยการทำหน้าที่เป็นล่ามในสถานพยาบาลเอกชนเหล่านั้น และเชื่อว่าค่าตอบแทนก็ดีด้วยเช่นกัน ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของไทยจากประเทศอาหรับก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก นี่คือช่องทางของผลผลิตของแผนกวิชาภาษาอาหรับที่นี่


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น