ประกาศข่าว ยังไม่มีข่าวใหม่ครับ

Widgets

วันสำคัญของชาวมุสลิม (วันอีด)

1. ความหมายด้านภาษา
อีด เป็นภาษาอาหรับที่ผันมาจากกริยาของ عَادَ – يَعُوْدُ – عَوْدٌ แปลว่า เวียนมา วกกลับ หวนมาบรรจบ ครบรอบ
      อัล-อัซฮะรีย์ กล่าวว่า “อีดในทัศนะของคนอาหรับจะหมายถึง เทศกาลความรื่นเริงหรือความโศกเศร้าที่หวนกลับมาบรรจบหรือครบรอบอีกครั้งหนึ่ง”
      อิบนุล-อะเราะบีย์ กล่าวว่า “เหตุที่ถูกเรียกว่า “อีด” เพราะมันจะเวียนกลับมาพร้อมกับนำความรื่นเริงครั้งใหม่(มาสู่ชุมชน)” [1]
      วันอีด จะถูกเรียกเนื่องในเทศกาลหรือโอกาสใดโอกาสหนึ่งที่หวนมาบรรจบเป็นประจำในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และในวันเดือนปีที่ชัดเจนจนเป็นธรรมเนียมที่รู้กัน ซึ่งอาจจะเป็นเทศกาลรายปีรายเดือน หรือรายสัปดาห์ โดยที่เทศกาลดังกล่าวจะหวนกลับมาพร้อมกับการต้อนรับของชุมชนด้วยกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นกิจกรรมด้านพิธีกรรมศาสนา กิจกรรมสันทนาการ กิจกรรมประเพณีกิจกรรมการชุมนุมสังสรรค์ และกิจกรรมการละเล่นหรือความรื่นเริงต่างๆ

2. ความหมายด้านนิติศาสตร์อิสลาม
      วันอีดในด้านนิติศาสตร์จะหมายถึงวันแห่งเทศกาลหรือโอกาสใดโอกาสหนึ่งที่หวนกลับมาบรรจบหรือครบรอบอีกครั้งอย่างเป็นเนืองนิตย์และเป็นปกติวิสัย ไม่ว่าจะเป็นการหวนกลับมาในรอบปี รอบสัปดาห์ หรือรอบเดือนก็ตาม[2] อาทิเช่น อีดิลฟิฏริ อีดิลอัฎฮา อีดุลมีลาด (วันเกิด) อีดเราะสุสสะนะฮฺ (วันขึ้นปีใหม่) และอีดเมาลิด เป็นต้น
      ของขวัญวันอีด จะถูกเรียกว่า “อีดิยฺยะฮฺ” อิบนุ อาบิดีน กล่าวว่า "สาเหตุที่ถูกเรียกวันนี้ว่าวันอีด เพราะอัลลอฮฺทรงนำความเมตตาและความดีต่างๆ ของพระองค์กลับคืนสู่บ่าวของพระองค์อีกครั้ง อาทิเช่นอนุญาตให้ละจากการถือศีลอดหลังจากที่พระองค์ทรงห้าม(เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม) การแจกจ่ายซะกาตแก่คนจน การแจกจ่ายเนื้อสัตว์อุฎฺหิยะฮฺ(สัตว์กุรบาน) และอื่นๆ และเนื่องจากว่าโดยปกติแล้วในวันนี้จะมีแต่ความสุข สนุกสนาน รื่นเริง กระฉับกระเฉงและมีสีสันสวยงาม"

ประวัติวันอีดในอิสลาม
      ตามธรรมเนียมของแต่ละประชาชาติมักจะยึดเอาวันต่างๆที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ หรือมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในวันนั้นมาตั้งเป็นวันอีด แต่วันอีดในอิสลามจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวันอีดเหล่านั้น เพราะบัญญัติวันอีดในอิสลามจะมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับกิจกรรมศาสนา
ดังนั้นเราจึงพบว่าวันอีดิลฟิฏรฺจะมีความเกี่ยวพันกับการสิ้นสุดของการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ส่วนอีดิลอัฎฮาจะมีความเกี่ยวพันกับเทศกาลหัจญ์และวันอะเราะฟะฮฺ

วันอีด (วันรายอ) มัสยิดกลางปัตตานี

      เมื่อครั้งที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมอพยพไปยังมหานครมะดีนะฮฺ ท่านพบว่ามีอยู่สองวันที่ชาวอันศอรฺจะจัดงานเฉลิมฉลองในวันนั้นมาตั้งแต่สมัยก่อนอิสลาม ดังนั้นท่านจึงกล่าว(แก่ชาวมุสลิม)ว่า “แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงเปลี่ยนและทดแทนให้กับพวกเจ้าด้วยวันที่ประเสริฐกว่าวันทั้งสอง นั่นคือวันอีดิลฟิฏรฺและอีดิลอัฎฮา”[3]

      อะหฺมัด อับดุรเราะหฺมาน อัลบันนา กล่าวถึงเหตุผลของบัญยัติวันอีดทั้งสองว่า "เพราะวันอีดิลฟิฏรฺและอีดิลอัฎฮา เป็นวันที่อีดที่อัลลอฮฺทรงบัญญัติและเลือกไว้สำหรับบ่าวของพระองค์ และเพราะวันอีดทั้งสองมีขั้นหลังจากการปฏิบัติหลักการอิสลามที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือ การทำหัจญ์และการถือศีลอด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อัลลอฮฺทรงสัญญาว่าจะอภัยโทษแก่บรรดาผู้ทำหัจญ์และผู้ถือศีลอด และจะทรงโปรยความเมตตาของพระองค์สู่บ่าวของพระองค์ทุกๆคนที่มีความจงรักภักดีต่อพระองค์"[4]
      โดยวันอีดทั้งสองจะเริ่มด้วยพิธีกรรมการละหมาดสองร็อกอัตที่แตกต่างจากวิธีการละหมาดทั่วไปเล็กน้อย นั่นคือ
1. จัดให้มีการละหมาดอย่างพร้อมเพรียงกันที่ลานกว้างหรือสนาม(ไม่ใช่มัสญิด ยกเว้นในกรณีที่จำเป็น)
2. มีรูปแบบเพิ่มเติมเล็กน้อย นั่นคือ การกล่าวตักบีรฺก่อนอ่านอัล-ฟาติฮะฮฺ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของตักบีรฺ ซะวาอิด
3. มีการอ่านคุฏบะฮฺหลังละหมาด

การปฏิบัติในวันอีด
1. ห้ามถือศีลอดในวันอีด
อบู สะอี๊ด อัล-คุดรีย์ กล่าวว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ห้ามไม่ให้ถือศีลอดในวันอีดิลฟิฏรฺและวันนะหัรฺ(วันอีดิล-อัฎฮา)”[5]
2. กล่าวตักบีรฺ
ตักบีรฺเป็นคำกล่าวหลักของวันอีดทั้งสอง ดังนั้นจึงต้องกล่าวตักบีรฺให้มากๆ ในคืนวันอีดทั้งสอง ทั้งที่บ้าน ในมัสญิด และตามถนนหนทาง เพื่อเป็นการป่าวประกาศไปทั่วทุกซอกซอย ถึงชัยชนะและความต้อนรับการมาเยือนของวันอีด โดยเฉพาะในวันอีดิลฟิฏรฺ[6]

الله أكبر، الله أكبر، [ الله أكبر] ، لا إله إلا الله والله أكبر، الله أكبر ولله الحمد

ความว่า “อัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่ (อัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่(48)) ไม่มีพระเจ้าที่แท้จริงนอกจากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่ และมวลการสรรเสริญทั้งหลายเป็นเอกสิทธิของอัลลอฮ"


اللهُ أكْبَرُ كبِيْرًا، وَاْلحَمْدُ لِّلهِ كثِيْرًا، وَسُبْحَا ن اللهِ بُكْرَةً وَأصِيْلا، لا إِلهَ إِلاَّ اللهُ وَ لا نَعْبُدُ إِلاَّ إِيَّاهُ مُخْلِصِينَ لهُ الدِّيْنَ وَلوْ كرِهَ الْكافِرُون، لا إِلهَ إِلاَّ اللهُ وَحْدَهُ، صَدَقَ وَعْدَهُ، وَنَصَرَ عَبْدَهُ، وَهَزَمَ الأَحْزَابُ وَحْدَهُ، لاإِلهَ إِلاَّ الله، وَاللهُ أكْبَرُ

ความว่า “อัลลอฮฺคือผู้เป็นที่สุดแห่งความยิ่งใหญ่ และการสรรเสริญอย่างมากมายเป็นเอกสิทธิของอัลลอฮฺ มหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮฺทั้งเช้าและเย็น ไม่มีองค์อภิบาลใดๆ ที่ควรแก่การเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺ และเราจะไม่เคารพภักดีนอกจากพระองค์แต่เพียงผู้เดียว ด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์ถึงแม้ว่าบรรดาผู้ปฏิเสธจะชิงชัง ไม่มีองค์อภิบาลใดๆ ที่ควรแก่การเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺแต่เพียงพระองค์เดียว พระองค์ทรงเป็นผู้ที่สัจในสัญญา และทรงช่วยเหลือบ่าวของพระองค์และทรงทำให้กลุ่มศัตรูพ่ายแพ้ด้วยพระองค์เพียงผู้เดียว ไม่มีองค์อภิบาลใดๆที่ควรแก่การเคารพภักดีนอกจากอัลลอฮฺและอัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่”

3. จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺและเชือดสัตว์กุรบาน
4. อาบน้ำชำระร่างกาย
5. พรมน้ำหอม
6. แต่งกายด้วยอาภรณ์ที่สวยงามและดูดีที่สุด
7. รับประทานอินทผลัมก่อนไปละหมาด (สำหรับอีดิลฟิตรี) เเต่อีดิลอัฎฮามื้อแรกให้ทานเนื้อกุรบาน
8. เดินทางสู่สนามละหมาด ส่งเสริมให้เดินทางสู่สนามละหมาดด้วยการเดินเท้า สำหรับผู้ที่มีบ้านอยู่ใกล้กับสนามละหมาดและสามารถเดินทางไปได้ แต่หากว่าบ้านอยู่ไกลหรือไม่สะดวกที่จะเดินเท้าก็ให้ขึ้นรถแทนซึ่งในขณะเดินทางส่งเสริมให้กล่าวตักบีรฺตลอดทางสู่สนามละหมาด
9. ละหมาดอีด
10. กล่าวอวยพรให้แก่กัน
ญุบัยรฺ อิบนุ นุฟัยรฺ กล่าวว่า “ทุกครั้งที่บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม มาเจอกันในวันอีด พวกเขาจะกล่าวให้แก่กันว่า

تَقبَّلَ اللهُ مِنَّا وَمِنْكَ
“ตะก็อบบะลัลลอฮุ มินนา วะมินกะ” 
(ขออัลลอฮฺทรงรับทั้งจากเราและจากท่าน)[7]
11. บริจาคทาน
12. จัดงานฉลองและการละเล่นวันอีด


[1] ลิซานุล อะร็อบ 9/491, ตาญุล อะรูส 8/438
[2] อิกติฎออฺ อัศ-ศิรอฏ อัล-มุสตะกีม 1/241, วารสารอัล-มะนารฺ (7/97) 19/12/1316 ฮ.ศ.
[3] อะหฺมัด 3/103, อบู ดาวูด (1124), อัน-นะสาอีย์ 3/277, อัล-หากิม 1/294, อัล-บะเฆาะวีย์
4/292
[4] อัล-ฟัตหุ อัรฺ-ร็อบบานีย์ 6/119
[5] อัล-บุคอรีย์ (1991), มุสลิม (827)
[6] อัล-มุฆนีย์ 3/278, อิรวาอุลเฆาะลีลฺ 3/122
[7] ฟัตหุลบารีย์ 2/517 อิบนุ หะญัรฺกล่าวว่า “เราได้รายงานในอัล-มุหามิลิยฺยาต ด้วยสายรายงานที่หะสัน”

2 ความคิดเห็น:

วันเกิดถือเป็นวันอีดมั้ยครับ (221)

วันสำคัญของชาวมุสลิม (วันอีด) ~ เอกภาษาอาหรับ ม.อ. ปัตตานี >>>>> Download Now

>>>>> Download Full

วันสำคัญของชาวมุสลิม (วันอีด) ~ เอกภาษาอาหรับ ม.อ. ปัตตานี >>>>> Download LINK

>>>>> Download Now

วันสำคัญของชาวมุสลิม (วันอีด) ~ เอกภาษาอาหรับ ม.อ. ปัตตานี >>>>> Download Full

>>>>> Download LINK

แสดงความคิดเห็น