ประกาศข่าว ยังไม่มีข่าวใหม่ครับ

Widgets

ข้อปฏิบัติในวันอีด (วันรายอ)

วันอีด หรือเป็นที่รูู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ “วันรายอ” ถือว่าเป็นวันสำคัญทางศาสนาอิสลามในรอบปี  ซึ่่งวันดังกล่าวมีข้อปฏิบัติที่เป็นกิจลักษณะ  ที่อิสลามิกชนทั่วโลกได้ยึดถือตามแบบอย่างของศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) ปฏิบัติกันมา ตามที่ท่านได้กระทำไว้เป็นแบบอย่างในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่  โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้...

การละหมาดวันอีดิลฟิตตรี  ณ มัสยิด Sheikh Zayed ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

1. การกล่าวตักบีรฺในวันอีดุลอัฎฮาเริ่มต้นให้กล่าวภายหลังนมาซศุบหฺของวันที่ 9 ซุลหิจญะฮฺ (คือวันอะเราะฟะฮฺ ซึ่งจะกล่าวเรื่อยไปจนกระทั่งไปถึงเวลานมาซอัศริของวันที่ 13 ซุลหิจญะฮฺ (นี่เป็นทัศนะของท่านอฺลีย์ และท่านอิบนุมัสอูด ซึ่งถือว่าเป็นทัศนะที่ถูกต้องที่สุด), ส่วนการกล่าวตักบีรฺในวันอีดิลฟิฏรินั้นอนุญาตให้กล่าวตั้งแต่เมื่อมีการเห็น (หรือทราบข่าวการเห็น) จันทร์เสี้ยวภายหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าของวันที่ 29 เดือนเราะมะฎอนจนกระทั่งอิมามยืนเพื่อนมาซอีดิลฟิฏริ, ส่วนสำนวนของของการตักบีรฺในวันอีดทั้งสองซึ่งมีหลายสำนวน แต่สำนวนดั่งต่อไปนี้ถือว่าถูกต้อง และสมบูรณ์ที่สุดคือ“ الله أكبر الله أكبر لا إله إلا الله والله أكبر ألله أكبر ولله الحمد “ คำอ่าน “อัลลอฮุอักบัรฺ อัลลอฮุอักบัรฺ ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ วัลลอฮุอักบัรฺ อัลลอฮุอักบัรฺ วะลิลลาฮิลหัมด์” ความว่า “อัลลอฮฺ ผู้ทรงยิ่งใหญ่, อัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่ ไม่มีพระเจ้าอื่นใด ที่ต้องเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียวเท่านั้น, อัลลอฮฺ ผู้ทรงยิ่งใหญ่, อัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่ ซึ่งการสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮฺทั้งสิ้น”

2. มีสุนนะฮฺให้เลือกเสื้อผ้าที่ดีที่สุด,สวยที่สุดของเราเพื่อสวมใส่ไปร่วมนมาซวันอีดุลอัฎฮา และอีดิลฟิฏริ โดยผู้ชายก็มีสุนนะฮฺในปะพรมน้ำหอม โดยมีรายงานหะดีษกล่าวไว้ว่า “ ท่านรสูลุลลอฮฺสั่งใช้ให้พวกเราไปนมาซอีดทั้งสองโดยสวมใส่เสื้อผ้าที่ดีที่สุดในสิ่งที่เรามี และสั่งให้พวกเราปะพรมน้ำหอม “ (บันทึกโดยหากิม)

3. มีสุนนะฮฺให้รับประทานอาหารมื้อแรกของวันอีดด้วยเนื้อกุรฺบาน ท่านบุร็อยดะฮฺเล่าว่า “ ท่านรสูลุลลอฮฺจะไม่รับประทาน (อาหาร) ใน (เช้า) วันอีดุลอัฎฮา จนกว่าจะกลับมายังบ้าน (เพื่อเชือดสัตว์กุรฺบาน) “ (บันทึกโดยติรฺมิซีย์, อิบนุมาญะฮฺ และอะหฺมัด) ส่วนอีดิลฟิฏริมีสุนนะฮฺให้รับประทานอาหารเพียงเล็กน้อยก่อนออกไปนมาซอีดิลฟิฏริที่ลานกว้าง (มุศ็อลลา) ซึ่งท่านอนัสเล่าว่า “ปรากฏว่าท่านนบีมุหัมมัดจะไม่ออกไปนมาซอีดิลฟิฏริในช่วงเช้าจนกว่าท่านนบีจะรับประทานอินทผลัมเสียก่อน โดยท่านนบีจะรับประทาน (อินทผลัม) เป็นจำนวนคี่ (เช่น 3, 5 หรือ 7 ผลเป็นต้น)” (บันทึกโดยบุคอรีย์ และอะหฺมัด)

4. มีสุนนะฮฺให้นมาซวันอีดทั้งสองที่สนามกว้าง (มุศ็อลลา) ซึ่งปรากฏว่าขณะท่านรสูลุลลอฮฺมีชีวิตอยู่นั้นท่านรสูลไม่เคยนมาซวันอีดทั้งสองที่มัสญิดแม้แต่ครั้งเดียว, ส่วนผู้ที่อ้างว่ามีครั้งหนึ่งท่านรสูลนมาซวันอีดที่มัสญิดเนื่องจากวันนั้นฝนตก หะดีษข้างต้นถือว่าเป็นหลักฐานไม่ได้ เพราะสายรายงานของหะดีษข้างต้นเฎาะอีฟ

5. ส่งเสริมให้บรรดาเด็กๆ และสตรีถึงแม้ว่านางจะมีรอบเดือนก็ตาม ทั้งนี้เพื่อจะได้ออกมาร่วมรื่นเริงในวันอีดทั้งสองโดยพร้อมเพียงกัน, ท่านอิบนุ อับบาสเล่าว่า “ ฉันออกมาร่วมกับท่านรสูลุลลอฮฺในวันอีดฟิฏริ และอีดิลอัฎหา, ท่านนบีนมาซอีด จากนั้นก็คุฏบะฮฺ จากนั้นท่านรสูลก็หันมายังมุสลิมะฮฺโดยอบรมพวกนางและใช้ให้พวกนางเศาะดะเกาะฮฺ “ (บันทึกโดยบุคอรีย์)

6. มีสุนนะฮฺให้เดินทางไปนมาซวันอีดทั้งสองที่มุศ็อลลา (ลานกว้าง) หรือที่มัสญิด (หากไม่สามารถนมาซที่มุศ็อลลาได้) ทางหนึ่ง และกลับบ้านอีกทางหนึ่ง, ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า “ ปรากฏว่าท่านรสูลุลลอฮฺออกไปนมาซอีด (ทางหนึ่ง) และเดินทางกลับ (บ้าน) อีกทางหนึ่งซึ่งไม่ใช่ทางเดียวกันกับตอนเดินทางมา “ (บันทึกโดยมุสลิม, อะหฺมัด และติรฺมิซีย์) สาเหตุที่ทำเช่นนั้นเพราะเราจะได้พบปะให้สลามแก่พี่น้องมุสลิมของเราเป็นจำนวนมาก

7. เวลาของการนมาซวันอีดุลอัฎหามีสุนนะฮฺในรีบนมาซ กล่าวคือให้นมาซในช่วงเช้าๆ เพราะจะต้องเจียดเวลาให้แก่การเชือดสัตว์กุรฺบาน, ท่านญุนดุบเล่าว่า “ ปรากฏว่าท่านรสูลุลลอฮฺนมาซอีดุลอัฎหาประมาณ (แสงเงาของดวงอาทิตย์ปรากฏ) หนึ่งด้ามหอก (คือนมาซในช่วงเช้ามากๆ ประมาณหกโมงเช้า) , ส่วนการนมาซวันอีดิลฟิฏริมีสุนนะฮฺให้นมาซอีดเล่าช้ากว่านมาซอีดิลอัฏหา กล่าวคือประมาณ 2 ด้ามหอก (ประมาณเจ็ดโมงเช้า) ทั้งนี้เพื่อปล่อยโอกาสให้พี่น้องมุสลิมได้มีเวลาจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ เพราะเวลาที่จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺที่ดีที่สุดคือช่วงเวลาหลังนมาซศุบหฺของวันอีดิลฟิฏริเรื่อยไปจนกระทั่งเข้าเวลานมาซอีดนั่นเอง

8. ไม่มีสุนนะฮฺให้อะซาน หรืออิกอมะฮฺก่อนนมาซอีด, ท่านสะอฺด์ บุตรของอบูวักกอศเล่าว่า “ ท่านรสูลุลลอฮฺนมาซอีด โดยไม่มีอะซาน และอิกอมะฮฺ “ (บันทึกโดยบัซซาร) หรือแม้กระทั่งกล่าวว่า “ อัศเศาะลาตุลญามิอะฮฺ “ ก่อนนมาซอีดถือว่าไม่มีแบบอย่างเช่นกัน หากบุคคลใดกระทำเช่นนั้นถือว่าเป็นบิดอะฮฺ (อุตริกรรมในศาสนา)

9. ไม่มีนมาซใดๆ ก่อนหรือหลังนมาซวันอีดทั้งสอง, ท่านอิบนุ อับบาสเล่าว่า “ ท่านรสูลุลลอฮฺออกไปนมาซอีดสองร็อกอะฮฺโดยท่านรสูลมิได้นมาซใดๆ ก่อนหรือหลังนมาซ (อีด) “ (บันทึกโดยญะมาอะฮฺ) ส่วนกรณีที่บุคคลใดไปนมาซวันอีดที่มัสญิด เช่นนั้นเขาสามารถจะนมาซตะหิยะตุลมัสญิดได้ เพราะทุกครั้งที่เข้ามัสญิดมีสุนนะฮฺให้นมาซตะหิยะตุลมัสญิดก่อนนั่ง ซึ่งการนมาซข้างต้นมิใช่การนมาซสุนนะฮฺก่อนนมาซวันอีด

10. มีสุนนะฮฺส่งเสริมให้มีการละเล่นของเด็กๆ , ท่านอนัสเล่าว่า “ ท่านรสูลุลลอฮฺมุ่งหน้าไปยังมะดีนะฮฺ ซึ่งขณะนั้นพวกเขามีการละเล่นสองวัน ท่านรสูลก็กล่าวว่า แน่นอนยิ่งพระองค์อัลลอฮฺทรงทดแทนวันทั้งสองที่ดีกว่าให้แก่พวกท่าน นั่นคือวันอีดุลฟิฏริ และอีดุลอัฎหา “ (บันทึกโดยนะสาอีย์, อิบนุ หิบบาน โดยรายงานหะดีษเศาะหี้หฺ)

11. ส่งเสริมให้มีการขอพรซึ่งกันและกันในวันอีดทั้งสอง, ท่านญุบัยร์ บุตรของนะฟีรเล่าว่า “ ปรากฏว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านรสูลุลลอฮฺเมื่อพวกเขาพบปะกันในวันอีด พวกเขาจะกล่าวขอพรให้กันและกันว่า โดยมีสำนวนว่า “ تقبل الله منا ومنك “ คำอ่าน “ ตะก็อบบะลัลลอฮุ มินนา วะมินกะ “ความว่า ขอพระองค์อัลลอฮฺทรงตอบรับการงานของเราและของท่านด้วยเถิด “ (ท่านหาฟิซกล่าวว่า สายรายงานข้างต้นถือว่าหะสัน) หรือจะกล่าวว่า “ تقبل الله منا ومنكم “ คำอ่าน “ตะก็อบบะละ มินนา วะมินกุม “

12. ให้แสดงตนเองให้ผู้คนทั้งหลายทราบว่านี่คือวันแห่งเฉลิมฉลองรื่นเริงของพี่น้องมุสลิมซึ่งเป็นวันแห่งวาระสำคัญยิ่งในรอบปี โดยตกแต่งบ้านช่องให้สะอาดสวยงามตามสถานภาพของตนเอง

13. เยี่ยมเยียนบิดา, มารดา, ครู, อาจารย์, พี่ป้าน้าอา, ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิทมิตรสหาย หรือแม้กระทั่งเพื่อนบ้านใกล้เคียง

14. หากไม่เป็นเหลือบ่ากว่าแรง ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงอาหารที่บ้าน และแจกจ่ายไปยังเพื่อนบ้าน ตามสถานภาพของตนเอง

15. สำหรับผู้ที่มีสตางค์ก็ควรบริจาคทรัพย์สิน หรือเศาะดะเกาะฮฺให้แก่เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กยากจน, เด็กกำพร้า หรือบุคคลที่ยากจนขันสนทั่วๆ ไป

16. ภายหลังวันอีดทั้งสอง การไปพักผ่อนหย่อนใจยังสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่พระเจ้าได้ทรงสร้างสรรค์ไว้ เพื่อไปดูการสร้างของพระองค์อัลลอฮฺ และรำลึกถึงกรุณาธิคุณของพระองค์อัลลอฮฺผู้ทรงสรรพสิ่งอันสวยงามเพื่อบ่าวของพระองค์ ย่อมกระทำได้ หากบุคคลใดมีความสามารถพาสมาชิกในครอบครัวของตนเองไปท่องเที่ยวได้ก็ส่งเสริมให้กระทำ แต่ถ้าไม่มีความสามารถไปเที่ยวตามต่างจังหวัดได้ อย่างน้อยการพาสมาชิกในครอบครัวไปรับประทานอาหารนอกบ้านกันสักมื้อ เป็นสิ่งสมควรกระทำบ้างมิใช่หรือ?


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น