ประกาศข่าว ยังไม่มีข่าวใหม่ครับ

Widgets

ความเป็นมาเกี่ยวกับการศึกษาไวยากรณ์ภาษาอาหรับ

ความเป็นมาเกี่ยวกับการศึกษาไวยากรณ์ภาษาอาหรับ
เรียบเรียง  อิบนู อะหมัด

     การศึกษาเกี่ยวกับไวยากรณ์ภาษาอาหรับเกิดขึ้นในประเทศอิรักที่เมืองกูฟะฮฺและบัศเราะฮฺในช่วงศตวรรษที่ 1  สาขาวิชาดังกล่าวเกิดเพราะคนในเมืองทั้งสองส่วนใหญ่ใช้ภาษาเปอร์เซีย  กอปรกับมีผู้คนในยุคหลังเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมากจากการพิชิตเมืองต่างๆ ในประวัติศาสตร์อิสลาม ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแล้วไม่ใช่อาหรับ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ได้มีนักปราชญ์เป็นจำนวนมากที่กังวลว่าภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาอัลกุรอานจะวิบัติหากไม่มีการสงวนอย่างจริงจัง วิธีหนึ่งที่จะรักษาภาษาอาหรับให้บริสุทธิ์นั้นก็คือการศึกษาหลักภาษาอาหรับอย่างจริงจัง

     ในประวัติศาสตร์อิสลามชื่อของอะบูอัลอัสวัด อัดดุอะลีย์ (.. 69)  ท่านถูกกล่าวขานว่าเป็นบุคคลแรกที่วางรากฐานเกี่ยวกับไวยากรณ์ภาษาอาหรับ โดยการบัญชาของเคาะลีฟะฮฺอะลี บินอบีตอลิบ ท่านเป็นบุคคลแรกที่เริ่มกำหนดหลักการอ่านด้วยการใส่สระ ต่อมายะฮฺยา อิบนุ ยะอฺมุร (.. 89)  และนัศรอิบนุ อาศิม (.. 89)  ทั้งสองท่านได้ริเริ่มการใส่จุดให้กับพยัญชนะต่างๆ และเป็นผู้เริ่มจัดเรียงอักษรภาษาอาหรับอย่างเป็นระบบแต่ยังไม่ค่อยสมบูรณ์มากนัก จนกระทั่งได้มีนักปราชญ์นามว่า อัลคอลีลอิบนุ อะหมัด อัลฟะรอฮีดีย์ (.. 170) ได้ทำการเรียบเรียงอย่างสมบูรณ์ และท่านเองก็มีลูกศิษย์นามว่า ซิบาวัยอฺ ชื่อจริงอะบูบะชัรอัมรอิบนุ อุสมาน (.. 180) ที่ได้ทำการประพันธ์หนังสือไวยากรณ์ที่มีชื่อเสียงอย่างมาก คือหนังสือ อัลกีตาบ  หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นหนังสือไวยากรณ์ภาษาอาหรับที่สมบูรณ์ที่สุด จนมีนักปราชญ์ทางด้านภาษาศาสตร์ยกย่องหนังสือของท่านว่า  لم يكتب الناس في النحو كتاباً مثلهไม่มีมนุษย์คนไหนที่จะเขียนหนังสือเกี่ยวกับไวยากรณ์ภาษาอาหรับเหมือนกับท่านได้อีกแล้ว”   ด้วยเหตุดังกล่าวท่านจึงถูกขนานนามว่าเป็น ปราชญ์แห่งวิชาไวยากรณ์อาหรับตราบจนปัจจุบัน...


***************
เเละนี่คือประวัติโดยสังเขปของท่านซิบาไวฮฺ ผู้ทรงอิทธิพลในสาขาวิชาไวยากรณ์อาหรับ

อบู บะชัร อัมรฺ บิน อุซมาน บิน กุนบัร อัลบัศรีย์  หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม สิบาไวฮฺ  (ฮ.ศ.140/ ค.ศ.760-ฮ.ศ.180/ ค.ศ.797)  ปรมาจารย์อวุโสทางด้านไวยากรณ์อาหรับ ถือว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่มีคุณูปการอย่างมากต่อศิลปวัฒนธรรมอาหรับอิสลาม เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการวางรากฐานด้านไวยากรณ์ภาษาอาหรับชั้นสูง ผลงานการประพันธ์ที่เป็นที่รู้จักคือ อัลกิตาบจัดว่าเป็นตำราทางไวยากรณ์ร่วมสมัยที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน

อัลกิตาบ ถือว่าตำราที่มีอิทธิพลอย่างมากในการศึกษาด้านไวยากรณ์อาหรับ นักวิชาการส่วนใหญ่ต่างยกย่องท่านว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดในแขนงวิชาดังกล่าว จนถูกขนานนามว่า กุรอานุลนะหฺวี” (ผู้ที่มีความปราดเปรื่องอย่างมากในเรื่องไวยากรณ์) นอกจากนั้นแล้วท่านยังเป็นผู้ที่อธิบายเรื่องสัทอักษรอาหรับไว้อย่างละเอียด 

อัมรฺ บิน อุซมาน บิน กุนบัร  เกิดในช่วงกลางศตวรรษที่สองแห่งฮิจเราะห์ศักราช ในเขตอัลบัยฎออ์  ตำบลชีราซ  เมืองฟาร์ส  (ประเทศอิหร่านในปัจจุบัน) ชื่อที่เป็นที่รู้จักกัน คือ สิบาไวฮฺ (ชื่อของท่านเป็นคำในภาษาเปอร์เซีย หมายถึง กลิ่นหอมของแอปเปิ้ล)

ท่านได้ใช้ชีวิตในช่วงวัยเด็กที่บัศเราะฮฺ (เมืองหนึ่งในประเทศอิรักปัจจุบัน) ด้วยบุคลิกที่เป็นเด็กใฝ่รู้ ใฝ่เรียน  ท่านจึงได้รับการถ่ายทอดความรู้จากปราชญ์ทางด้านไวยากรณ์ในสมัยนั้นหลายท่านด้วยกัน เช่น  อัลอัคฟัช อัลอักบัร, ยุนัส บิน หะบีบ, อบี เซด อัลอันศอรีย์ นอกจากนั้นท่านยังเป็นศิษย์ของปรมาจารย์ที่มีชื่อเสียงอย่างมากทางภาษาศาสตร์ คือ อัลคอลีล บิน อะหมัด อัลฟะรอฮิดีย์ (ฮ.ศ.100/ ค.ศ.718-ฮ.ศ.173/ ค.ศ.789)

ท่านเคยเดินทางไปยังแบกแดดและได้พบกับอัลกุสาอีย์ (ฮ.ศ.119/ ค.ศ.737-ฮ.ศ.189/ ค.ศ.805) ปราชญ์ทางไวยากรณ์สำนักกุฟะห์  ในช่วงนั้นได้มีการตอบโต้กันในประเด็นที่เป็นที่รู้จักหลายเรื่องเกี่ยวกับไวยากรณ์  หลังจากนั้นท่านก็ได้กลับไปยังบ้านเกิดและได้เสียชีวิตที่นั่นในปี ฮ.ศ.180/ ค.ศ.797




About Author :

อิบนุ อะหมัด |  นามแฝง
นักเขียน นักแปลสมัครเล่น ผู้มีความสนใจในการเรียนรู้
ภาษาอาหรับ  เจ้าของพื้นที่ความคิด "บล็อกสนทนาประสาอาหรับ
Follow him @ emronpsu52.blogs | Facebook

1 ความคิดเห็น:

แวะมาโหวต TBA2013 ให้ครับ และขอให้บล็อกภาษาอาหรับ ม.อ. ปัตตานีสร้างสรรค์บทความคุณภาพเพื่อสังคมเช่นนี้ตลอดไป
http://www.thailandblogawards.com/entry/view/417

แสดงความคิดเห็น