ประกาศข่าว ยังไม่มีข่าวใหม่ครับ

Widgets

Ali Ahmad Said Esber นักกวีร่วมสมัยชาวอาหรับ


Ali Ahmad Said Esber
นามปากกา  Adonis

           
นักกวีร่วมสมัยชาวอาหรับ ผู้ไม่ลังเลใจที่จะถ่ายทอดความรู้สึกออกมาในบทกวี เขารู้ดีว่าบทกวีไร้พรมแดนและช่วยหล่อเลี้ยงชีวิต เขาศรัทธาในบทกวีและจิตวิญญาณอันอ่อนไหวของตนเอง และได้เชื้อเชิญให้เพื่อนมนุษย์ได้ร่วมดื่มด่ำไปกับนาทีของความสั่นไหวแห่งชีวิต
ก่อนมีการประกาศผลรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี 2010 นักกวีชาวซีเรีย อโดนีส (Adonis) นามปากกาซึ่งย่อมาจากชื่อเต็ม Ali Ahmad Said Esber เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกคาดหมายว่าอาจได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เขาเป็นนักกวีแถวหน้าของโลกอาหรับ ผู้คนรู้จักดีในฐานะนักวิชาการและนักวิจารณ์ เขาไม่ได้เป็นนักกวีที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และเป็นผู้หว่านความเป็นสมัยใหม่ให้แก่บทกวีของอาหรับเท่านั้น แต่เขายังเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรม นักเขียน บรรณาธิการและนักแปล เป็นตัวแทนของสุ้มเสียงบทกวีอาหรับมานานนับ 50 ปี และเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบการประพันธ์กวีที่ต่างไปจากขนบธรรมเนียมแบบเดิม นับเป็นนักปฏิวัติกวีสมัยใหม่ของโลกอาหรับ
อโดนีสเติบโตในเมืองเล็กๆ ชื่อ Qassibin ใกล้กับ Latakia ในประเทศซีเรีย ตอนวัยเด็กชอบออกไปทำไร่ทำสวน บิดาศึกษาด้านวัฒนธรรมอาหรับและศาสนาอิสลาม ลูกชายจึงมีโอกาสเรียนรู้บทกวีอาหรับตั้งแต่อายุ 14 ปี แม้ชีวิตจะคลุกคลีอยู่กับธรรมชาติ แต่ไม่ได้รู้สึกว่าดื่มด่ำไปกับธรรมชาติหรือความงามและมิติที่หลากหลายของธรรมชาติ เพราะในการประพันธ์กวีนั้น เขาชอบถ่ายทอดเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ และเปรียบว่า การเขียนบทกวีไม่ต่างจากการกำลังลงมือไถพรวนดิน ในวัยเด็กอโดนีสสนิทกับบิดามาก แต่มารู้สึกได้หลังจากบิดาถึงแก่กรรม
หลังจากพ่อตาย ผมจึงเข้าใจว่าตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน พ่อให้ความเป็นเพื่อนกับผมมาก พ่อบอกผมเสมอว่าการตัดสินใจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องคิดก่อน คำพูดนี้ของพ่อทำให้รู้สึกว่าพ่อเป็นเหมือนเพื่อน ผมได้อิทธิพลหลายอย่างจากพ่อแบบเต็มที่ และไม่อาจเจียระไนได้ว่าได้รับมามากแค่ไหน พ่อทำให้ผมได้อ่านบทกวีของนักกวีนามอุโฆษชาวอาหรับหลายคน และให้อิสระแก่ผมในการรักคนที่ผมชอบ พ่อไม่เคยห้ามในการลิ้มรสชาติของชีวิตแม้แต่ครั้งเดียว และอิสระที่ได้รับมาทำให้ผมได้ทำในสิ่งที่ผมอยากทำ ชีวิตที่ปิดตายตัวเองมันไร้ความหมาย ขณะเดียวกัน ถ้าคุณเปิดตนเอง คุณก็ต้องค้นหาคำตอบที่ซ่อนอยู่ระหว่างช่องว่างกับคนอื่น

การเปิดใจในสังคมที่ปิดตายเป็นสิ่งที่ยากมาก ต้องมีการสร้างวัฒนธรรมแห่งการยอมรับความเห็นต่างขึ้นมา เปิดเสรีทางประชาธิปไตย รับฟังความเห็นต่าง คุณจะประพันธ์บทกวีออกมาได้ไม่ดีในสังคมที่มันห่วย ดังนั้น สังคมที่ดีย่อมทำให้เกิดบทกวีที่ยิ่งใหญ่ แม้แต่ในสังคมประชาธิปไตยเองใช่ว่าผู้คนจะยอมรับฟังความคิดต่างกันง่ายเสียที่ไหน ถ้าคุณอยากมีเสรีภาพไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็อย่าลืมนึกถึงความตายเอาไว้ด้วย และเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเอ่ยแก่คนรักไม่ได้ ก็ให้ไปเอ่ยกับเพื่อน แสดงว่าความรักของคุณไม่ชอบมาพากลแล้ว


ในบทกวี Orpheus อโดนีสได้กล่าวชัดเจนถึงการไม่หวนคืนหรือโหยรำพึงต่ออดีต นั่นแสดงให้เห็นว่าวัยเด็กไม่มีวันหวนคืน และเขามีความเห็นว่าการเป็นนักกวีต้องมีความเป็นเด็กอยู่ในตัว แล้วปล่อยให้ความทรงจำว่างเปล่า ประพันธ์ออกมาโดยไร้ทฤษฎี มองไปถึงอนาคตกับปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกาลแห่งปัจจุบัน เมื่อคิดเช่นนี้อโดนีสจึงมองว่าความรักไม่มีความทรงจำ ความรักไม่ใช่การตอกย้ำซ้ำซากกับเรื่องเก่า ความรักคือการเริ่มต้นใหม่เสมอ


เมื่อต้องประพันธ์บทกวี อโดนีสไม่มีกฎเกณฑ์อะไรในการประพันธ์ ไม่เคยเขียนบทกวีบนโต๊ะทำงาน แต่ออกไปเดินตามท้องถนน พูดคุยกับผู้คนแล้วบทกวีก็พรั่งพรูออกมา ณ ตอนนั้น และการที่ต้องมาคิดถึงตอนเริ่มต้นของบทกวี ก็ไม่ต่างจากการค้นพบกับจุดจบของการประพันธ์ สำหรับเขาแล้วการเขียนกวีไม่จำเป็นต้องอาศัยตรรกะ ทุกอย่างเกิดขึ้นมาโดยบังเอิญจนอาจเหมือนโชคช่วย ขณะเดียวกันเขายอมรับว่ากฎเกณฑ์บางอย่างก็จำเป็นต้องมี แต่จะให้อธิบายว่าคือกฎเกณฑ์อะไร อโดนีสอธิบายไม่ได้
"ความรู้สึกนี้ก็ไม่ต่างจากการที่คุณชอบผู้หญิงคนหนึ่ง ทั้งๆ ที่โลกนี้มีผู้หญิงอีกตั้งมากมายดารดาษ แต่คุณกลับไม่รู้สึกอะไรกับพวกเธอ"

แล้วระหว่างอารมณ์กับความรู้สึก เขาเองวัดไม่ได้ว่าสิ่งไหนมาก่อนหลัง พร้อมกับตั้งคำถามว่าสองสิ่งนี้ต่างกันอย่างไร อารมณ์อาจเป็นความคิดใดก็ได้ ที่เราวัดค่าไม่ได้ ในเมื่อมนุษย์หลอมรวมมาจากทุกสิ่งประกอบกันขึ้นมา ทั้งอารมณ์และความรู้สึก ดังนั้นเขาจึงไม่รู้ว่าจะแยกอารมณ์และความรู้สึกออกจากกันเช่นไร การเป็นนักกวีต้องใช้การพรรณนาในสองรูปแบบ แบบแรกคือนักกวีไม่เคยประสบแต่พรรณนาออกมา

ส่วนอีกแบบคือเกิดขึ้นในความรู้สึกด้านลึก แล้วรู้สึกกับสิ่งนั้นมากกว่าเห็นด้วยตา และไม่ว่าจะเป็นนักกวีตะวันออกหรือตะวันตก พวกเขาจะประพันธ์บทกวีออกมาไม่ได้ หากปราศจากความเข้าใจในสิ่งที่พบเจอและสิ่งที่จินตนาการ นักกวีคือผู้ที่กำลังลบภาพในจินตนาการ เพื่อถ่ายทอดภาพออกมาให้ผู้อ่านเห็นภาพ ไม่ต่างจากโลกนี้เป็นจอภาพยนตร์ และมีเรื่องราวอยู่หลังจอ อีกอย่างที่อโดนีสมีความเห็น คือบทกวีแยกออกไปจากความคิดไม่ได้ บทกวีและความคิดเป็นสิ่งที่เชื่อมประสานกันมาตั้งแต่ทีแรก
อโดนีสสำเร็จวิชากฎหมายและปรัชญาจาก University of Damascus และสำเร็จปริญญาเอกจากวิทยานิพนธ์หัวข้อ The Static and Dynamic in Arabic Culture ช่วงที่ไปเป็นทหารในกองทัพของซีเรีย เขาเคยถูกจองจำในคุกช่วงสั้นๆ ด้วยข้อหาการแสดงความเห็นทางการเมือง

หลังจากนั้นได้เลือกลี้ภัยไปอยู่ที่เลบานอนในปี 1956 อีก 4 ปีต่อมาก็ได้เป็นพลเมืองของเลบานอน ช่วงลี้ภัยทำให้ได้เขียนบทกวีออกมามากมาย และภาพความเป็นนักกวีเจิดจรัสออกมา บทกวี First Poems เป็นที่รู้จักในปี 1957, Leaves in the Wind ตีพิมพ์ออกมาปี 1958 ผลงานชิ้นสำคัญคือ Songs of Mihyar the Damascene ตีพิมพ์ปี 1961 ในช่วงระหว่างปี 1961-1963 เขาและ Yusuf al-Khal เพื่อนนักกวีชาวเลบานอน ได้ทำหน้าที่บรรณาธิการร่วมให้แก่นิตยสาร Shi'r-นิตยสารกวี และได้ก่อตั้งนิตยสารเกี่ยวกับกวีชื่อ Mawaqif (Positions) ซึ่งเป็นพื้นที่นิตยสารที่ส่งเสริมการประพันธ์กวีในรูปแบบและภาษาแบบใหม่

อโดนีสให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมและขนบการประพันธ์กวีแบบอาหรับ ความที่เขาสนใจด้านการเมืองและวิสัยทัศน์ที่มีต่อสังคม ทำให้สามารถค้นคว้า-สืบค้นลงไปยังอัตลักษณ์ของตนเอง อัตลักษณ์ของชาติ รวมถึงความหวังในอนาคตที่มีต่อสังคมและวัฒนธรรมอาหรับ การประพันธ์บทกวีของเขาเต็มไปด้วยอุปมาอุปไมยที่ซับซ้อน มีทั้งความเป็นห่วงและความปรารถนาดีต่อโลกอาหรับ และหวังว่าสิ่งที่ผ่องถ่ายกันในความต่างของภาษา จะทำให้โลกผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การที่อโดนีสสร้างขนบแบบใหม่ขึ้นมาในการประพันธ์บทกวี ก็เพื่อนำเสนอความรู้สึกที่เป็นอุปมา อันไม่อาจเข้าใจได้ด้วยเหตุผลและตรรกะ แต่เข้าถึงโดยจินตนาการและความฝัน และบทกวีแบบใหม่คือการถ่ายทอดปรัชญาแห่งการมีอยู่ของมนุษย์ ดังนั้น อโดนีสจึงปฏิวัติทั้งรูปแบบ โครงสร้าง การอุปมา และละทิ้งขนบแบบเดิม แล้วผสานทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียวอย่างเป็นธรรมชาติ บทกวีของเขาลื่นไหลและโชนออกมาจากการประสานเป็นหนึ่งเดียวของความรู้สึกด้านใน เขายังบอกอีกว่าไม่จำเป็นต้องเข้าใจบทกวีทั้งหมดเพียงเพื่อรู้สึกสราญใจไปกับมัน

อโดนีสยังมีความเห็นต่องานประพันธ์ประเภทบทกวีว่า "บทกวีไม่ได้ถูกประพันธ์ขึ้นมาเพื่อรองรับศาสนาหรือแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง แต่บทกวีได้มอบวิทยาการซึ่งแตกแขนงออกมาและน่าตื่นตาตื่นใจ สำหรับชาวอิสลามมีที่ทางสำหรับกวีไม่มากนัก เพราะผู้นับถือศาสนาได้ยึดเอาคัมภีร์อัลกุรอานว่าคือวิทยาการที่สัมบูรณ์และไม่จำเป็นต้องเพิ่มเติมสิ่งใดเข้าไป
บทกวีเปลี่ยนสังคมไม่ได้ บทกวีทำได้เพียงเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไม่ได้หากขาดการเปลี่ยนแปลงในสังคม บทกวีซึ่งเข้าถึงทุกผู้ทุกคน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความยิ่งใหญ่ในเชิงลึก บทกวีอันยิ่งใหญ่ย่อมเต็มไปด้วยความตั้งใจจริงของผู้ประพันธ์ เพื่อให้ผู้อ่านได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับนักกวี ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์งาน การอ่านไม่ใช่การเปิดใจรับงานเอาไว้ ผมจึงอยากแนะนำให้คุณพาตนเองเข้าไปสู่บทกวีและงานศิลปะทั่วๆ ไป

ในด้านบทบาทของการเป็นอาจารย์สอนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในสหรัฐฯและยุโรป อโดนีสมักสอนนักศึกษาให้กล้าหือกับเขา ให้กล้าที่จะต่อกรทางความคิดกับผู้สอน เช่นเดียวกัน เขาเลี้ยงลูกสาวทั้งสองคนอย่างอิสรเสรีทางความคิด คนหนึ่งเป็นศิลปิน อีกคนเป็นผู้อำนวยการของสมาคมวัฒนธรรมฝรั่งเศส "ผมไม่ได้เลี้ยงลูกให้เติบโตมาเป็นนักกวี มันไม่จำเป็น แต่ผมเลี้ยงพวกเขาเพื่อให้มีคำถามต่อทุกสิ่ง พวกเขามีอิสระและผมบอกลูกๆ ว่าให้เป็นอย่างที่ตนเองอยากเป็น ถึงแม้สิ่งที่เป็นจะไม่สบอารมณ์ผมก็ตามที

เขามองว่าการที่บทกวีจากโลกอาหรับไม่เป็นที่นิยมในหมู่นักอ่านตะวันตก สาเหตุหนึ่งมาจากเหตุผลทางการเมือง การที่วัฒนธรรมแห่งบทกวีจะสื่อถึงกันอย่างไม่ถูกปิดกั้น ต้องเปิดใจต่อกันอย่างไม่อคติ พร้อมกับทำพันธสัญญาต่อกันในการเปิดใจ เพื่อเรียนรู้กันและกัน ขณะที่นักเขียนชาวอเมริกา ได้รับการยอมรับในนานาประเทศ แต่นักเขียนอาหรับกลับตรงกันข้าม พวกเขายังถูกต่อต้านและถูกมองว่าเป็นศัตรู วันที่สหรัฐบุกอิรัก บทกวีของอโดนีสตีพิมพ์หราอยู่บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ภาษาอาหรับฉบับหนึ่ง เขาไม่เห็นด้วยกับยุทธวิธีและนโยบายทางการทหารของสหรัฐ รวมถึงปฏิเสธลัทธิวัตถุนิยมและเทคโนโลยี

อโดนีสเห็นว่าการขับเคลื่อนไปข้างหน้าของโลกมนุษย์ กอปรไปด้วย ความคาบเกี่ยวกันระหว่างการฝังรากและการทำลายล้าง ระหว่างมาตุภูมิและดินแดนที่อพยพมาพักพิง ระหว่างการเป็นคนแปลกแยกในบ้านเกิดเมืองนอนและการลี้ภัยในบ้านเกิดในสถานะคนอื่น  สิ่งเหล่านี้นำพาให้เขาพบกับความคิดสร้างสรรค์และค้นพบความรู้สึกที่ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของบทกวี

สรุป


Ali Ahmad Said Esber กวีชาวซีเรีย มีนามปากกาว่า อโดนีส (Adonis) เขาเป็นนักกวีแถวหน้าของโลกอาหรับ ซึ้งรู้จักดีในฐานะนักวิชาการ นักแปล และนักวิจารณ์ อโดนีสเติบโตในเมืองเล็กๆ ชื่อ Qassibin ใกล้กับ Latakia ในประเทศซีเรีย ตอนวัยเด็กเขาชอบออกไปทำไร่ทำสวน บิดาศึกษาด้านวัฒนธรรมอาหรับและศาสนาอิสลาม เขาจึงมีโอกาสเรียนรู้บทกวีอาหรับตั้งแต่อายุ 14ปี เมื่อเขาเติบโตได้ศึกษาวิชากฎหมายและปรัชญาจาก University of Damascus และสำเร็จปริญญาเอกจากวิทยานิพนธ์หัวข้อ The Static and Dynamic in Arabic Culture และเป็นอาจารย์สอนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในสหรัฐฯและยุโรป

ผลงานชิ้นสำคัญของอโดนีสคือ Songs of Mihyar the Damascene ตีพิมพ์ปี 1961 ในช่วงระหว่างปี 1961-1963 เขาและ Yusuf al-Khal เพื่อนนักกวีชาวเลบานอน ได้ทำหน้าที่บรรณาธิการร่วมให้แก่นิตยสาร Shi'r-นิตยสารกวี และได้ก่อตั้งนิตยสารเกี่ยวกับกวีชื่อ Mawaqif (Positions) ซึ่งเป็นพื้นที่นิตยสารที่ส่งเสริมการประพันธ์กวีในรูปแบบและภาษาแบบใหม่

บทความโดย   นายสุภกิจ ยันตาภรณ์  รหัสนักศึกษา 5120210434 
          เอกภาษาอาหรับ ม.อ. ปัตตานี

                   

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น