ประกาศข่าว ยังไม่มีข่าวใหม่ครับ

Widgets

ขั้นตอนการเรียนรู้วิชาไวยากรณ์อาหรับ


ก่อนอื่น ก็อยากให้นักศึกษาไวยากรณ์อาหรับทุกท่านรับทราบเสียก่อนว่า 
ไวยาการณ์อาหรับ (اَلنَّحْوُ)  มิใช่เป็นวิชาที่มีเป้าหมายหลักเพื่อเน้นสอนการ แปล ภาษาอาหรับให้ถูกต้อง 
แต่เป็นวิชาที่สอนให้ผู้เรียน สามารถ อ่าน สระที่พยัญชนะตัวสุดท้ายของคำแต่ละคำในประโยค ได้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์อาหรับ
ส่วนเรื่องการแปล จะต้องอาศัยการจดจำคำศัพท์  ตลอดจนลักษณะการแปรรูปของคำศัพท์ต่างๆอันเป็นวิชาเทคนิคเฉพาะด้านอีกต่างหาก
เรื่อง การอ่าน สระภาษาอาหรับให้ถูกต้อง กับ การแปล ภาษาอาหรับ  จึงไม่จำเป็นจะต้องสัมพันธ์กันเสมอไป 
ตัวอย่างเช่น
ประโยคสั้นๆในภาษาอาหรับ (ที่ไม่มีสระกำกับ) ว่า   المقتول مسيئ  ซึ่งแปลว่า ผู้ที่ถูกสังหารนั้น เป็นคนชั่ว  
ประโยคนี้ การใส่สระที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์อาหรับคือ อ่านด้วย สระอู (ضَمَّةٌ) .. ทั้งที่ตัว ลาม สุดท้ายของคำว่า  المقتولُ,   และที่ ฮัมซะฮ์ ของคำว่า  مسيئٌ 
การอ่านที่ถูกต้องของประโยคข้างต้นจึงเป็น   اَلْمَقْتُوْلُ مُسِيْئٌ 
แต่บางคน อาจอ่านเป็นว่า   اَلْمَقْتُوْلِ مُسِيْئٍ  หรืออ่านว่า  اَلْمَقْتُوْلُ مُسِيْئٍ  หรืออ่านว่า اَلْمَقْتُوْلِ مُسِيْئٌ  ซึ่งถือว่า ผิดหลักไวยากรณ์อาหรับทั้งสิ้น 
ถ้าเขาจำคำแปลศัพท์ทั้ง 2 คำนั้นได้ว่า คำว่า مقتول  แปลว่า ผู้ที่ถูกฆ่าหรือถูกสังหาร,   และคำว่า مسيئ   แปลว่า คนชั่ว,  เขาก็อาจจะแปลได้ถูกต้อง  แม้ว่าจะอ่านผิดหลักไวยากรณ์ก็ตาม  
เหตุการณ์ในลักษณะนี้จะมีปรากฏให้เห็นกันบ่อยในปัจจุบันสำหรับนักศึกษาที่จดจำคำศัพท์ได้มาก  แต่อ่อนด้อยในวิชาไวยากรณ์อาหรับ 
โปรดเข้าใจด้วยว่า  ความหมาย ของคำศัพท์ภาษาอาหรับแต่ละคำจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก  แต่ การอ่าน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ่านสระที่พยัญชนะตัวสุดท้าย ของคำศัพท์คำเดียวกัน แต่คนละประโยคกัน อาจแตกต่างกันได้ 
การจำ กฎเกณฑ์ การเปลี่ยนแปลงสระที่พยัญชนะตัวสุดท้าย ของคำแต่ละคำในประโยค,  และการจดจำคำศัพท์ต่างๆได้มาก  จึงถือเป็น หัวใจ สำคัญของการเรียนรู้วิชาภาษาอาหรับ ...
ให้ท่านสังเกตตัวอย่างต่อไปนี้    
คำว่า  رَجُلٌ  ในภาษาอาหรับ ซึ่งแปลว่า  ชายผู้หนึ่ง
พยัญชนะตัวสุดท้ายของคำนี้ คือตัว ลาม (ل)
สระ ในภาษาอาหรับก็มีอยู่เพียง 3 สระ คือ สระอุหรืออู (ضَمَّةٌ),  สระอะหรืออา (فَتْحَةٌ), และสระอิหรืออี (كَسْرَةٌ)
ปกติ  หากคำๆนี้เป็นคำเดี่ยว ..  คือไม่ถูกนำไปรวมกับคำอื่นจนกลายเป็นประโยค  ท่านก็สามารถจะใส่สระที่ตัว ل ซึ่งเป็นพยัญชนะตัวสุดท้ายของมันด้วยสระอะไร จากทั้ง 3 สระนั้นได้ทั้งสิ้น ...
หากใส่สระ ضَمَّةٌ ก็จะอ่านว่า  رَجُلٌ
หรือจะใส่สระ فَتْحَةٌ  ก็จะอ่านว่า  رَجُلاً,  
หรือจะใส่สระ كَسْرَةٌ ก็จะอ่านว่า   رَجُلٍ  ...
ซึ่งไม่ว่าท่านจะอ่านมันว่า   رَجُلٌ หรือ   رَجُلاً หรือ  رَجُلٍ  .. ความหมายก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ..  คือแปลว่า  ชายผู้หนึ่ง  เหมือนเดิม
แต่, หากเมื่อใดที่ท่านนำคำว่า  رَجُلٌ  ตัวนี้ ไปรวมกับคำอื่นจนกลายเป็นประโยคขึ้นมา  การใส่สระที่ตัว  ل  ของมันก็จะมีกฎเกณฑ์ที่ ตายตัว ตามหลักวิชาไวยากรณ์อาหรับทันที .. ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 
ประโยคที่ 1   คำพูดว่า هَذَا رَجُلٌ : (อ่านด้วยสระ ضَمَّةٌ  ที่ตัว ل)  แปลว่า นี่ (คือ) ชายผู้หนึ่ง               
ประโยคที่ 2   คำพูดว่า   : رَأَيْتُ رَجُلاً (อ่านด้วยสระ  فَتْحَةٌ ที่ตัว ل)  แปลว่า ฉันเห็นชายผู้หนึ่ง
ประโยคที่ 3   คำพูดว่า    : اَلْمَالُ لِرَجُلٍ (อ่านด้วยสระ كَسْرَةٌ ที่ตัว ل ของ رَجُلٍ)  แปลว่า ทรัพย์สินนั้น เป็นของชายผู้หนึ่ง
แม้ความหมายของคำว่า رَجُلٌ  ในทั้ง 3 ประโยคข้างต้น จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆไม่ว่าจะอ่านด้วยสระอะไรก็ตาม  ดังที่ท่านได้เห็นจากคำแปลในทั้ง 3 ตัวอย่างนั้น
แต่ทว่า, ในด้านการอ่าน  ตัว  ل ซึ่งเป็นพยัญชนะตัวสุดท้ายของ คำว่า  رَجُلٌ ในแต่ละประโยคจากทั้ง 3 ประโยคนี้  ท่านจะอ่าน ให้สลับสระกัน ไม่ได้เลย  เพราะจะเป็นการอ่านที่ผิดหลักวิชาไวยากรณ์อาหรับทันที 
อย่างในประโยคที่หนึ่ง  ท่านจะอ่านมันด้วยสระ فَتْحَةٌ ว่า  :  هَذَا رَجُلاً  หรืออ่านด้วยสระ  كَسْرَةٌ ว่า  : هَذَا رَجُلٍ ไม่ได้ ...
ในประโยคที่สอง  ท่านจะอ่านมันด้วยสระ  ضَمَّةٌ ว่า  :  رَأَيْتُ رَجُلٌ ..  หรืออ่านด้วยสระ  كَسْرَةٌ ว่า  : رَأَيْتُ رَجُلٍ   ก็ไม่ได้
และในประโยคที่สาม  ท่านจะอ่านมันด้วยสระ  ضَمَّةٌ ว่า  :  اَلْمَالُ لِرَجُلٌ .. หรืออ่านด้วยสระ  فَتْحَةٌ ว่า  :  اَلْمَالُ لِرَجُلاً   ก็ไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน
หากจะมีคำถามว่า  เพราะเหตุใดคำว่า  رَجُلٌ ในประโยคทั้ง 3  ข้างต้นจึงอ่านสลับสระกันไม่ได้ ในเมื่อความหมายของมันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ...
คำตอบก็คือ  เพราะการ ทำหน้าที่ ของคำว่า  رَجُلٌ ในประโยคทั้ง 3 นั้น ไม่เหมือนกัน ...

อธิบาย
ในประโยคที่หนึ่ง   คำว่า  رَجُلٌ (อ่านด้วยสระ ضَمَّةٌ) ทำหน้าที่เป็น ภาคแสดง (ไวยากรณ์อาหรับเรียกว่า خَبَرٌ ) ของประธานในประโยค  (ประธานของประโยค คือคำว่า  هَذَا  ข้างหน้า,  ซึ่งไวยากรณ์อาหรับเรียกคำนามที่เป็นประธานของประโยคว่า مُبْتَدَأٌ )
คำที่ทำหน้าที่เป็น  خَبَرٌ หรือภาคแสดง  กฎเกณฑ์วิชาไวยากรณ์อาหรับกำหนดว่าตามปกติ จะต้องอ่านด้วยสระ ضَمَّةٌ  หรือสระอู 
ตัวลามของ  رَجُلٌ ในประโยคที่หนึ่งจึงต้องอ่านด้วยสระ ضَمَّةٌ ว่า    هَذَا رَجُلٌ ..
แต่ในประโยคที่สอง คำว่า  رَجُلاً (อ่านด้วยสระ فَتْحَةٌ)  จะทำหน้าที่เป็น กรรม ของคำว่า   رَأَيْتُ  : (ฉันเห็น) ...
หมายเหตุ
กรรม  (ไวยากรณ์อาหรับเรียกว่า مَفْعُوْلٌ بِهِ)  คือ คำที่ทำหน้าที่ในประโยคเป็น ผู้ที่ถูกกระทำ  เช่นถูกกิน,  ถูกด่า,  ถูกตี,  ถูกฆ่า,  ถูกช่วยเหลือ,  ถูกยกย่อง ฯลฯ 
คำว่า  رَجُلاً (ชายผู้หนึ่ง) ในประโยคที่สองนี้  ทำหน้าที่เป็นกรรมของคำว่า  رَأَيْتُ  (ฉันเห็น)  เพราะเป็นผู้ที่ ถูกเห็น
คำที่ทำหน้าที่เป็น   مَفْعُوْلٌ بِهِ  หรือกรรมของประโยคใด  กฎเกณฑ์วิชาไวยากรณ์อาหรับกำหนดว่า  ตามปกติ คำนั้นจะต้องอ่านด้วยสระ  فَتْحَةٌ  หรือสระอา
ตัวลามของ  رَجُلٌ ในประโยคที่สองจึงต้องอ่านด้วยสระ فَتْحَةٌ ว่า   رَأَيْتُ رَجُلاً  
ส่วนในประโยคที่สาม คำว่า  رَجُلٍ (อ่านด้วยสระ كَسْرَةٌ) ถูกบังคับตามหลักไวยากรณ์ให้อ่านด้วยสระอีหรือสระกัสเราะฮ์  เพราะมันอยู่หลังจากตัว لِِِ ของคำว่า  لِرَجُلٍ .. ซึ่งลามตัวนี้  มีความหมายว่า เป็นของเป็นกรรมสิทธิ์ของ 
ไวยากรณ์อาหรับจะเรียกลามนี้ว่าหุรูฟญัรฺ  (حَرْفُ الْجَرِّ ) .. ซึ่ง  حَرْفُ الْجَرِّ  นี้จะมีอยู่หลายคำด้วยกัน ดังจะได้กล่าวต่อไป ...
และคำนามที่ตกหลังจาก حَرْفُ الْجَرِّ   ทุกตัว  กฎเกณฑ์วิชาไวยากรณ์อาหรับกำหนดว่า ตามปกติ  จะต้องอ่านด้วยสระ كَسْرَةٌ  คือ สระอิหรืออี 
ตัวลามของ رَجُلٌ ในประโยคที่สาม จึงต้องอ่านด้วยสระ كَسْرَةٌ ว่า  اَلْمَالُ لِرَجُلٍ 
(ข้อยกเว้นในบางกรณีของกฎเกณฑ์ทั้งหมดข้างต้น และรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับเรื่องนี้  จะได้อธิบายในตอนต่อไป)
จากคำอธิบายข้างต้นทำให้ท่านได้รับทราบว่า  การอ่านสระที่ตัวลามของคำว่า رَجُلٌ ที่ มีความแตกต่างกัน ดังตัวอย่าง  เกิดจากการ ทำหน้าที่ ที่แตกต่างกันของมันในแต่ละประโยค ...   
ดังนั้น  ขั้นตอนการเรียนรู้ภาษาอาหรับให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ในเวลาอันรวดเร็ว  ท่านจะต้องศึกษาไปตาม ขั้นตอน  ดังต่อไปนี้
(1). เรียนรู้และเข้าใจความหมายของประโยค
(2). เรียนรู้เรื่ององค์ประกอบของประโยค
(3). เรียนรู้เรื่องคำนามต่างๆและคำกริยาที่  مُعْرَبٌ ..  คือ สามารถเปลี่ยนแปลงสระหรือพยัญชนะที่ปลายคำได้
(4). บทนี้สำคัญที่สุด --  คือเรียนรู้และเข้าใจความหมาย เอี๊ยะอฺหรอบ (إِعْرَابٌ)   หรือการเปลี่ยนแปลงสระหรือเปลี่ยนแปลงพยัญชนะ ที่ปลายคำนามและคำกริยาดังข้อ 3 ได้ .. แล้วจดจำ เครื่องหมายเอี๊ยะอฺหรอบ (عَلاَمَاتُ اْلإِعْرَابِ) ของคำต่างๆเหล่านี้ได้ขึ้นใจ
(5). บทนี้สำคัญพอๆกับบทที่ 4 --  คือ เรียนรู้เรื่องการ ทำหน้าที่  ของคำแต่ละคำในประโยค ..  และจดจำ ความสัมพันธ์ ระหว่าง เอี๊ยะอฺหรอบ  กับ หน้าที่ ของคำต่างๆในแต่ละประโยคได้ ...
โปรดมั่นใจว่า  วิชาไวยากรณ์อาหรับมิใช่เป็นวิชาที่ยากเย็นแสนเข็ญอย่างที่ท่านวิตกหรือหวั่นเกรง  เพียงแต่ท่านต้องพยายาม จับเคล็ดลับ ของมันให้ได้  และพยายาม จดจำ กฎเกณฑ์ต่างๆของมันให้แม่นจนสามารถนำมาปฏิบัติได้  แล้ววิชาไวยากรณ์อาหรับก็จะกลายเป็นวิชาที่ให้ความเพลิดเพลินและกระหายที่จะเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด 
จากประสบการณ์ที่ตัวเองเคยศึกษาวิชาไวยากรณ์อาหรับจนประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้นมาก่อน  จึงมั่นใจว่า หากท่านตั้งใจเรียนไปตามขั้นตอนที่ได้แนะนำไปนี้ พร้อมทั้งขยันท่องและจดจำกฎเกณฑ์ต่างๆของวิชาไวยากรณ์,  จดจำคำศัพท์ให้มาก,  และได้รับคำแนะนำบ้างจากผู้รู้  รับรองได้ว่าท่านสามารถจะเข้าใจพื้นฐานของวิชาไวยากรณ์อาหรับ และพอจะอ่านภาษาอาหรับที่ไม่มีสระได้บ้าง ภายในเวลาประมาณไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น  อินชาอัลลอฮ์
ต่อไปนี้  จะอธิบายให้ท่านเข้าใจเนื้อหา ขั้นพื้นฐาน ของวิชาไวยากรณ์อาหรับตามขั้นตอนข้างต้น ดังต่อไปนี้  (โปรดติดตามภาษาอาหรับอย่างง่ายตอนต่อไป)

ข้อมูลจาก  : หนังสือภาษาอาหรับอย่างง่าย เล่ม 1  โดย อ. ปราโมทย์  ศรีอุทัย  รองประธานฝ่ายวิชาการชมรมมุสลิมภาคใต้ และฝ่ายวิชาการโรงเรียนอัลมูวาห์ฮิดีน
                                 

1 ความคิดเห็น:

เป็นการอธิบายที่เข้าใจได้ง่ายมากค่ะ.

แสดงความคิดเห็น