ประกาศข่าว ยังไม่มีข่าวใหม่ครับ

Widgets

วรรณคดีอาหรับ : Arabic Literature

วรรณคดีอาหรับ
เรียบเรียงโดย ดร.อณัส อมาตยกุล


     ความเป็นมาของวรรณคดีอาหรับนั้นเริ่มมาจากปรากฏการณ์ของบทกวีในสมัยอวิชชา(ก่อนอิสลามหรือสมัยญาฮิลียะฮ์)ที่เรียกว่า อัล มุอัลละกอต จวบจนถึงนวนิยายร่วมสมัยในปัจจุบัน วรรคดีที่เขียนขึ้นเป็นภาษาอาหรับมีความเป็นมายาวนานไม่น้อยกว่า 15 ศตวรรษ และแม้วรรณคดีอาหรับจะถือกำเนิดมาจากสมัยอวิชชา(ก่อนอิสลามหรือสมัยญาฮิลียะฮ์) แต่พัฒนาการจริงๆของวรรณคดีนี้กลับอยู่ในสมัยอิสลาม เริ่มจากพระคัมภีร์อัลกุรอานที่นับเป็นบ่อเกิดแห่งการขับเคลื่อนการพรรณาจินตนาการและสำบัดสํานวนในแวดวงมรดกทางวัฒนธรรมแบบอาหรับ-อิสลาม

      จากอดีตจนถึงพัฒนาการของวรรณคดีร่วมสมัยต่างๆในปัจจุบัน การได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดีของนะญีบ (นากิบ) มะห์ฟูซ ในปีค.ศ. 1988 ส่งผลให้วรรณคดีอาหรับมีบทบาทสำคัญในเวทีวรรณคดีโลก

       วรรณคดีสมัยญาฮิลียะฮ์เป็นผลผลิตของสังคมอาหรับเร่ร่อน(เบดูอิน)ที่นิยมใช้ร้อยกรองในการพรรณา ตัวกวีเองมักอยู่ในสถานะของผู้พยากรณ์ประจำเผ่า เนื้อหาที่แสดงออกมาจึงเป็นบทกวี หรือ กอซีดะฮ์ กวีจะประพันธ์บทกวีของเขาโดยการสังเกตุการเลือกที่หยุดพักของอูฐที่มักเลือกสถานที่ที่เคยเป็นที่ตั้งกระโจมที่ถูกรื้อถอนไป ผู้รวบรวมและนักวิจารณ์วรรณคดีอย่าง อิบนิ กุตัยบะฮ์ (ต.889)ได้ปะติดปะต่อส่วนต่างๆที่ตกทอดมาให้เป็นบทกวีของเผ่าอาหรับที่ผูกพันกับการเร่ร่อนไปหาที่ตั้งกระโจม แม้นักวิจารณ์วรณคดีอาหรับสมัยใหม่จะได้ตั้งคำถามมากมายถึงกระบวนวิธีของอิบนิ กุตัยบะฮ์ในการจัดลำดับกอซีดะฮ์เหล่านี้ แต่การวิจารณ์เหล่านี้ก็ไม่มีผลอะไรเปลี่ยนแปลงการต่อมาตราฐานที่บรรดานักภาษาและวรรณคดีอาหรับในสมัยกลางได้ยอมรับบทกวีเหล่านี้ไปแล้วในฐานะแม่แบบของไวยากรณ์และร้อยกรอง กวีในสมัยก่อนอิสลามนั้นมีทั้งชายและหญิง กวีสตรีอย่างอัล คอนซาผู้ประพันธ์บทกวีไว้อาลัยพี่ชายของเธอ

   บทกวีญาฮิลียะฮ์เหล่านี้เผชิญกับความจำกัดในการเป็นมาตราฐานหลักทางภาษาและไวยากรณ์ให้แก่ภาษาอาหรับที่ภายหลังกลับมานิยมงานร้อยแก้ว พระคัมภีร์อัลกุรอานได้มีโอกาสร่วมสมัยกับกระแสวรรณคดีอาหรับก่อนสมัยอิสลาม มีพลังการพรรณาที่ไพเราะและการสร้างจินตนาการที่งดงามรวมทั้งการสร้างศรัทธาทางศาสนาที่แรงกล้า และเป็นปรากฏการณ์ทางวรรณคดีที่มิได้ร้อยกรองอย่างบทกวีญาฮิลียะฮ์เหล่านั้นทำให้ พระคัมภีร์อัลกุรอานในฐานะวะห์ยู(วิวรณ์) ที่ล้วนเป็นคำดำรัสของอัลลอฮ์แก่มนุษยชาติผ่านทางท่าน นบี มุฮัมมัด ศ็อลฯ จึงเป็นบรรทัดฐานทางวรรณคดีที่สมบูรณ์แบบแก่วรรณคดีร้อยแก้วที่เติบโตและพัฒนาไปกับประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรอาหรับและอิสลาม พร้อมๆกับการเป็นทางนำที่สมบูรณ์แบบของชีวิต คำดำรัสของอัลลอฮ์ปรากฏแก่ผู้สดับในรูปแบบที่ไม่ธรรมดาทั้งลักษณะการพรรณาที่ทั้งเนื้อหา ความลุ่มลึกหรือการบอกเล่าเรื่องราวของอดีต ปัจจุบันและอนาคตที่ผ่านการท้าทายมานับครั้งไม่ถ้วนจนเป็นที่ประจักษณ์ในขั้นที่กลายเป็นความมหัศจรรย์ของพระคัมภีร์อัลกุรอาน(อิอ์ญาซ) ทำให้สำนวนและ โวหารของพระคัมภีร์อัลกุรอานได้กลายเป็นมาตราฐานและบรรทัดฐานหลักของนักภาษาและไวยากรณ์อาหรับ

        การขยายอาณาจักรอิสลามออกไปในคริสตศตวรรษที่ 7 และ 8 ได้ก่อกำเนิดจักรวรรดิ์ที่ประกอยด้วยผู้คนหลายชาติหลายภาษาจากเสปนจนถึงอาฟกานิสตาน สังคมนานาชาติเหล่านี้ได้เป็นแหล่งหลอมรวมวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ๆอาณาจักรอิสลามเข้าครอบครอง ซึ่งรวมถึงอรรถรสทางวรรณคดีไว้ไม่ว่าจะเป็นของภูมิภาคทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหรือของยุโรปสมัยกลาง กระดาษที่ผลิตในจีนส่วนใหญ่ ส่งออกมาในโลกมุสลิมได้ส่งผลให้งานวรรณคดีเฟื่องฟูขึ้นเป็นอย่างมาก และก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดไปทั่วอาณาจักร นักวิชาการและนักเขียนมุสลิมผลิตชิ้นงานของพวกเขาจากตะวันตกสุดในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นประเทศปอร์ตุเกส ผ่านดินแดนริมฝั่งทะเลแดงไปสิ้นสุดในแทบเทือกเขาฮินดูกูษ

        นักวิจารณ์วรรณคดีส่วนใหญ่ผูกโยงวรรณคดีอาหรับไว้กับกวีนิพนธ์ อัล คอลีล (ต.791) ได้เป็นผู้วางบรรทัดฐานของจังหวะของกาพย์กลอน บทกวีสำหรับการสรรเสริญ(อัล มัดฮุ)นับเป็นที่สุดของงานศิลป์ทางวรรณคดี เช่นที่บทกวีรักเป็นงานที่สั้นที่สุดและซับซ้อนน้อยที่สุด บทกวีอาหรับ (กอซีดะฮ์)ของอาหรับได้คงทนผ่านพ้นกาลเวลา บทกวีเหล่านี้ได้กลายเป็นบทประพันธ์ในเรื่องรักๆใคร่ๆแทนการพรรณนาในเรื่องความสุนทรีย์ ชื่อของกวีในสมัยคลาสิกใหม่ของวรรณคดีอาหรับอย่าง อบู ตัมมาม(ต.845) และอัล บุฮ์ตะรีย์(ต.897)รวมถึงกวีแนววีรกรรมอย่างอัล มุตะนับบีย์( ต.965 ) กวีบางคนก็ไม่ได้ยึดกรอบตามบรรทัดฐานของบทร้อยกรองเดิมสมัยญาฮิลียะฮ์อย่างเช่นอบู นุวาสที่พูดถึงโรงเตี๊ยมแทนถิ่นฐานของชาวอาหรับในการเปิดบทกวีประโลมโลกบางบทของเขา

        ยังมีมรดกทางวรรณคดีอาหรับในแบบของร้อยแก้วที่ตกทอดมาถึงเราจากสมัยคลาสิกรวมเรียกเป็น อดับ แต่จะเรียกว่าเป็นร้อยแก้วล้วนก็อาจไม่ถูกต้องนัก แต่ก็ไม่ใช่ร้อยกลอง ในบรรดาชิ้นงาน อดับเหล่านี้ได้แก่ อัลกุรอาน อัลฮะดีษซึ่งรวบรวมแบบฉบบของท่าน นบี ศ็อลฯไว้ทั้งคำตรัส การกระทำและการยอมรับการกระทำของบรรดาสหายและสาวกของท่าน นักเขียนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำเอกของอดับก็คือ อัล ญาฮิซแห่งศตวรรษที่ 19 หนังสือที่มีชื่อเสียงของเขาคือ กิตาบ อัล บุคอลาอ์ (หนังสือว่าด้วยคนตระหนี่ถี่เหนี่ยว) ได้รับการอ่านอย่างกว้างขวางอยู่หลายร้อยปี ปัจจุบันยังเป็นเรื่องราวตัดทอนมาลงในหนังสืออ่านสำหรับเด็กทั่วไปในโลกอาหรับ ตัวละครในหนังสือนี้มีตั้งแต่กษัตริย์ ชนชั้นปกครอง บรรดากอฎีย์(ผู้พิพากษาตามหลักนิติสาสตร์อิสลาม) พวกโลภมากหรือแม้แต่คู่สงคราม

        เกร็ดทางวรรณคดีในสมัยกลางเหล่านี้ยังมีผลงานวรรณคดีที่ใกล้เคียงกันอย่างอัลมะกอมาต และ อาหรับราตรี หรือ พันหนึ่งทิวาราตรี ชิ้นงานอย่างอัลมะกอมาตเกิดจากเค้าโครงวรรณคดีท้องถิ่นต่างๆที่บะดีอ์ อุซซะมาน อัล ฮัมดานีย์ (ต.1008) นำมาประพันธ์ขึ้นใหม่ มะกอมาตของบะดีอ์ อุซซะมาน มีอัตลักษณ์ด้วยการเป็นร้อยแก้วที่มีท่วงทำนองคล้องจอง ขณะที่ อัล ฮะรีรีย์ (ต.1122) มีชื่อเสียงขึ้นมาจากการเขียนอัลมะกอมาตที่มีสำนวนโวหารโดดเด่นกว่านักเขียนมะกอมาตคนก่อนๆ มะกอมาตของอัล ฮะรีรีย์ได้กลายเป็นแม่แบบแก่นักเขียนในศตวรรษที่ 19 ที่ต้องการฟื้นฟูงานวรณคดีอาหรับ

        พันหนึ่งทิวาราตรี เป็นงานที่นำวรรณคดีหลากหลายมาปะติดปะต่อกันโดยใช้เวลานานนับศตวรรษ พันหนึ่งทิวาราตรี เป็นงานคลาสสิกทั้งในโลกอาหรับเท่าๆกับที่ได้รับการยอมรับในโลกตะวันตกเช่นกัน เวทมนต์ เรื่องบนเตียง พรมวิเศษ ฯลฯนับเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่คนนึกถึงวรรณคดีเรื่องนี้ ชาฮ์รอซาดและดุนยาซาดน้องสาวของนาง ขณะที่ชาฮ์ริยาดและน้องชาย ทั้งสองคู่มีชีวิตโลดแล่นอยู่เพื่อเล่าขานเรื่องราวของพันหนึ่งทิวาราตรี วรรณคดีชิ้นนี้ยังส่งผลให้บุคคลิกภาพของชาฮ์รอซาดเป็นตัวแทนแห่งศักดิ์ศรีของสตรีทั้งในเวทีของวรรณคดีคลาสสิกและวรรณคดีอาหรับสมัยใหม่

        วรรณคดีเฟื่องฟูอย่างเท่าเทียมกันทั้งในตะวันตกของโลกอิสลามและตะวันออก แม้อัล มะกอมาตจะมีกำเนิดในทางตะวันออกของโลกอาหรับ-อิสลามแต่กลับมีงานอัล มะกอมาต ไปปรากฏในทางตะวันตกที่สเปนอิสลาม อัล มุวัชชะฮาต เป็น งานวรรณคดีแบบลูกผสมในทางตะวันตกชนิดใหม่ที่ก่อเกิดจากการผสมผสานระหว่างร้อยกรองอาหรับและบทกวีท้องถิ่นของยุโรป และสามารถนำไปปรับใช้เป็นเนื้อเพลงที่เรายังสามารถได้ยินขับขานอยู่ในเพลงอาหรับทุกวันนี้ อิบนิ ฮัซม์ (ต.1064) ได้นำเสนอทิศทางใหม่ของงานร้อยแก้วแบบโรแมนติกในงานเรื่อง เฏาก์ อัล ฮัมมามะฮ์ (สร้อยคอนกพิราบ) เป็นอีกหนึ่งพัฒนาการของงานกวีที่ได้รับอิทธิพลจากแว่นแคว้นใกล้เคียงกับคอร์โดบาที่อิบนิ ฮัซม์ นำมาใช้พรรณาชีวิตรักในราชสำนักสเปน-อิสลาม

        งานวรรณคดีในแนวของซูฟีย์เริ่มมีพัฒนาการปรากฏเค้าให้ได้ยินมาตั้งแต่ยุคต้นๆของอิสลาม โดยปกติมักมาจากปัจเจกบุคคลที่ให้ความสำคัญกับการขัดเกลาและเข้าถึงหลักธรรมโดยอาจมองข้ามบริบททางชะรีอะฮ์อิสลามไป ประเภทของวรรณคดีซูฟีย์ที่แตกต่างอาจเป็นผลงานของนักปรัชญาและแพทย์ชาวสเปนอย่าง อิบนิ ฏุฟัยล์ (ต.1185-1186) ที่ประพันธ์นิทานเปรียบเปรยที่ยิ่งใหญ่ในชื่อ หัยย์ อิบนุ ยักซอน เป็นงานที่สะท้อนความสัมพันธ์ทางวรรณคดีอาหรับ-อิสลามและปรัชญา เป็นงานชิ้นเอกที่สะท้อนอรรถรสทางวรรณคดี เพศของนามและสรรพนามทางไวยากรณ์ ไปจนถึงสาระทางปรัชญาแพร่หลายอยู่จากสมัยกลางมาจนถึงปัจจุบัน ปรากฏอยู่ในวรรณคดีสำหรับเด็กๆจากอียิปต์ไปจนถึงตูนิเซีย
        การบูรณาการระหว่างปรัชญากับชะรีอะฮ์(นิติศาสตร์อิสลาม)ที่เหมาะเจาะเกิดขึ้นโดยนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ อบู ฮามิด อัล เฆาะซาลีย์ (ต.1111) หนังสืออัตชีวประวัติของท่านในชื่อ อัล มุนกิซ มิน อัล ฎอลาล พรรณาถึงการแสวงหาสัจธรรมจากแนวทางหนึ่งไปสู่อีกแนวทางหนึ่งของท่าน มีลักษณะคล้ายงานของนักบุญออกุสตีน ที่อธิบายปัญหาทางศาสนา งานอัตชีวประวัติอีกชิ้นเกิดขึ้นก่อนสมัยใหม่โดยมุญาฮิดีนนักเขียนชาวซีเรียในศตวรรษที่ 12 อุซามะฮ์ อิบนุ มุนกิซ  เขียนขึ้นในช่วงสงครามครูเสด เพื่อพรรณาข้อสังเกตุของเขาที่มีต่อนักรบครูเสดคู่สงครามในหนังสือ กิตาบ อัล อิอ์ติบาร นั้นปัจจุบันกลายเป็นงานคลาสสิกอีกเช่นกัน ทั้งยังมีอิทธิพลต่อนักเขียนปาเลสไตน์สมัยใหม่อย่าง อีมีล ฮาบีบีย์ ที่ไม่ขวยเขินที่จะประพันธ์งานที่ล้อไปกับวรรณคดีที่มีอายุนานหลายร้อยปีเช่นนี้

        นักเขียนอัตชีวประวัติในสมัยกลางจะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับงานเขียนประวัติชีวิต และงานประเภทนี้ก็เชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับศาสตร์ของวิชาฮะดีษ หรือการเล่าประวัติการสืบสายตระกูลของเผ่าอาหรับต่างๆ และประเพณีการเล่าขานตำนานบทกวี ส่วนการการกับการเรียบเรียงความเป็นมาก้จะใช้แนวคิดเรื่องการจัดลำดับชั้นของคนจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งหรือ เฏาะบะกอตความเชี่ยวชาญในงานวรรณคดีประเภทชีวประวัติยังคงพัฒนาต่อไปจนบรรลุถึงยุคทองในสมัยมัมลูก(ค.ศ.1250-1500) ซึ่งรวมถึงงานที่ผลิตโดยผู้พิการทางสายตา

        มีข้อสังเกตุประการหนึ่งก็คือหากใครได้อ่านงานอัตชีวประวัติของอุซามะฮ์ที่เขาพูดถึงการสนทนากับนักรบครูเสดแล้วก็จะเห็นว่าวรรณคดีอาหรับมีผลผลิตส่วนหนึ่งมาจากพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมในภูมิภาค ยิ่งในสมัยใหม่ด้วยแล้วก็จะยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจน ศตวรรษที่ 19 และ 20 เป็นช่วงเวลาที่ตะวันตกมีอิทธิพลต่อวรรณคดีและวัฒนธรรมยิ่งกว่าการเมืองก็ว่าได้ ลักษณะและรูปแบบใหม่ๆทางวรรณคดี รวมถึงนวนิยายและเรื่องสั้นมาพร้อมกับจักรวรรดินิยมตะวันตก ร้อยกรองและบทกวีซึ่งอยู่เคียงคู่กับวัฒนธรรมทางวรรณคดีในโลกอาหรับมาตลอดได้รับการส่งเสริมและเผยแพร่ออกไปในลักษณะที่แตกต่างไปจากร้อยแก้ว

        ในส่วนของนวนิยายนั้นอาจถือได้ว่า ซัยนับเป็นนวนิยายอาหรับเรื่องแรก เขียนขึ้นโดยมุฮัมมัด ฮุซัยน์ ฮัยกัล นักเขียนชาวอียิปต์ ได้รับการตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1913 ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ถือเป็นจุดสมบูรณ์สุดสุดของพัฒนาการของวรรณคดีอาหรับที่เริ่มมาจากศตวรรษที่19 และถือเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดเวทีให้แก่วรรณคดีอาหรับในโลกสมัยใหม่ นอกจากนั้นยังมีชื่อของนักเขียนซีเรียอย่าง นาศีฟ อัลยาซิญีย์ (ต.1871)ผู้เขียนมะกอมาต สมัยใหม่บนบรรทัดฐานของนักเขียนสมัยกลาง หรือหากใครได้มีโอกาสเดินท่องตามถนนในกรุงไคโรและหยิบวารสารอย่างอัล ฮิลาลขึ้นมาดูก็อาจนึกไม่ถึงว่าวารสารดังกล่าวนี้มีอายุยืนยาวมาจากช่วงเวลาของขบวนการฟื้นฟูวรรณคดีอาหรับและเป็นผลงานของผู้ก่อตั้งที่มีชื่อเสียงอย่าง ญิรญี ซัยดาน (ต.1914) ปัญญาชนแห่งศตวรรษที่ 19 ยังมีอีกหลายคนเช่น ริฟาอะฮ์ รอฟีอ์ อัล กอฮ์ฏอวีย์ (ต.1873) ผู้มีโอกาสเดินทางไปเยือนยุโรปในฐานะอิมามของบรรดานักเรียนทุนอียิปต์ในฝรั่งเศสและเขียนสิ่งต่างๆที่เขาได้เห็นไว้เป็นภาษาอาหรับ ยังมีงานร้อยแก้วแบบคลาสสิกใหม่ในช่วงต้นๆของศตวรรษที่ 20 ให้เห็นอีกเช่นงานเขียนของ อะหมัด เชาว์กีย์ (ต.1932) และฮาฟิซ อิบรอฮีม (ต.1932) แม้งานเขียนของทั้งสองยังคงยึดแบบของมะกอมาตอยู่แต่นับเป็นงานชิ้นเอกและเริ่มมีการวิจารณ์สังคมปรากฏให้เห็น นอกจากนั้นทั้งสองยังมีชื่อเสียงในการประพันธ์บทกวีอีกด้วย

        ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 วรรณคดีคลาสสิกใหม่ของอาหรับเริ่มไม่เห็นบทกวีแบบคลาสสิกหรือ กอซีดะฮ์ อีกยกเว้นในกลุ่มกวีหัวโบราณกลุ่มเล็กๆ บทกวีต่างๆกลายเป็นบทกวีอิสระไม่ขึ้นกับมาตราฐานและกฏเกณฑ์โบราณอีกต่อไป ความนิยมในกวีแบบใหม่นี้กระจายไปทั่วจากอิรักถึงแอฟริกาเหนือ กวีเช่น ศอลาฮ์ อับดุศ ศอบูร (ต.1981) มะห์มูด ดัรวีช หรือ อะหมัด อับดุล มุอ์ฏีย์ อัล ฮิญาซีย์ ล้วนเป็นผู้ผลักดันกวีนิพนธ์อาหรับให้ผงาดขึ้นมาใหม่ในโลกอาหรับและในโลกสากล
        ช่วงเวลาที่วรรณคดีอาหรับใช้เวลาเดินทางจากศตวรรษที่ 20 ช่วงหลังนวยุคได้ก่อเกิดนักเขียนที่สร้างสรรค์ผลงานไว้จนแน่นห้องสมุด การเขียนบทละครแบตะวันตกไม่ใช่แบบมะกอมาต ที่มีการวิจารณ์สังคมเริ่มปรากฏขึ้น พร้อมกับปัญหาการใช้ภาษาตลาดในบทละครเวทีหากต้องมีบทของชาวนาเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งนี้เนื่องจากวรรณคดีอาหรับไม่เคยยอมรับการใช้ภาษาตลาดในงานวรรณกรรมมาก่อน

        บุคคลสำคัญยิ่งในแวดวงวรรณคดีอาหรับสมัยใหม่ที่ไม่อาจละเลยไปได้คือ ฏอฮา ฮุซัยน์ (ต.1973) ผู้เขียนอัตชีวประวัติของตนและให้ชื่อว่า อัล อัยยาม หรือ วันเวลาที่นับว่าเป็นงานเขียนยอดนิยมแห่งศตวรรษที่ 20 และเป็นแม่แบบการเขียนจดหมายอาหรับสมัยใหม่ จากเด็กชายตาบอดฏอฮา ฮุซัยน์ได้ฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายจนสามารถกลายเป็นศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสมัยใหม่อย่างมหาวิทยาลัยไคโร เด็กนักเรียนจากตะวันออกถึงตะวันตก จากซีเรียถึงซูดานและจากซาอุดิอาระเบียจนถึงแอฟริกาเหนือยังคงอ่านงานของเขา บทละครขงเขาอย่าง ผู้พิชิตความมืด ได้รับการสร้างเป็นภาพยนต์และถ่ายทอดไปสู่ผู้ชมนับล้านๆคน ช่วงเวลาของ ฏอฮา ฮุซัยน์เป็นช่วงเวลาที่อียิปต์กำลังเรียกหาเอกราชจากจักรวรรดินิยม แต่นักเขียนและนักวิจารย์วรรณคดีหลายคนกลับผลิตงานเขียนด้วยภาษาของเจ้าอาณานิคมไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศสได้เคียงคู่กับภาษาอาหรับและหลายคนผลิตงานเขียนในขณะที่กําลังลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ แต่ไม่ว่าจะเขียนด้วยภาษาอะไรวรรณคดีอาหรับก็เดินไปเคียงข้างกับภาษาของเจ้าอาณานิคมดังเช่น ฮานาน อัล ชัยค์ นักเขียนสตรีชาวเลบานอนที่เขียนนวนิยายอาหรับจากมหานครลอนดอนแต่ผู้อ่านของเธอมีอยู่ทั่วโลกอาหรับ เรื่องราวของเธอก็เหมือนกับ มะห์มูด ดัรวีช กวีชาวปาเลสไตน์เช่นกัน

      ไม่ต้องสงสัยเลยว่าโลกตะวันตกได้ทําให้งานเขียนของ นะญีบ (นากิบ) มะห์ฟูซ ที่ถ่ายทอดชีวิตของชาวอียิปต์เป็นส่วนหนึ่งของวรรณคดีอาหรับไปแล้วด้วยฤทธิ์เดชของรางวัลโนเบล ทั้งๆที่ยังมีนักเขียนคนอื่นๆที่ผลิตวรรณกรรมในมาตราฐานเดียวกันเช่น ยูซุฟ อิดรีส (ต.1991) ที่ได้ชื่อว่าบรมครู (ชัยค์) แห่งเรื่องสั้นอาหรับ งานเขียนของอิดรีสบางเรื่องถิเป็นวรรณคดีที่ทรงพลังที่สุดเรื่องหนึ่งในเวทีวรรณคดีโลกโดยพาะเรื่องที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาทางเพศระหว่างหญิงและชายในโลกอาหรับ

        ขณะที่ทิศทางของวรรณคดีอาหรับปัจจุบันก็เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่องานเขียนของนักเขียนสตรีเริ่มทวีความสำคัญขึ้นในโลกอาหรับมากกว่าที่เคยเป็นมาในช่วงก่อนสมัยใหม่ วรรณคดีอาหรับในปัจจุบันมิได้มีแต่นักเขียนชายที่ยึดครองพื้นที่ของหน้าวรรณกรรมส่วนใหญ่ไว้แต่เพียงฝ่ายเดียว ปรากฏการณ์นี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในแวดวงร้อยกรองเท่านั้นแต่ได้ขยายไปยังนวนิยายและเรื่องสั้นอีกด้วย วรรณคดีที่ผลิตโดยนักเขียนสตรีจึงมักสะท้อนปัญหาสตรีในสังคมอาหรับ หลายชิ้นงานเป็นผลิตผลของกลุ่มสตรีนิยมโดยตรง ผู้อ่านในโลกอาหรับอาจสังเกตุเห็นว่างานเขียนของนักเขียนชายและหญิงสะท้อนแนวคิดและปัญหาทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมในโลกอาหรับปัจจุบันในมุมมองที่แตกต่างกัน นักเขียนสตรีและแพทย์หญิงชาวอียิปต์อย่าง นาวาล อัล ซะอ์ดะวีย์ นำเสนองานเขียนชนิดที่ไม่มีการประนีประนอมใดๆกับความเป็นจริงของสังคมที่ผิดกรอบและเกณฑ์จริยธรรมตะวันตกในปัญหาสตรี

        ความเปลี่ยนแปลงในทิศทางของวรรณคดีอาหรับยังไม่หยุดนิ่ง ด้านหนึ่งคือการผลิตงานตามบรรทัดฐานวรรณคดีหรือแม้แต่ตามระเบียบวิธีของทั้ง ภาษา ไวยากรณ์และสำบัดสำนวนภาษาตะวันตก กับอีกดุลย์ถ่วงหนึ่งที่มาจากกลุ่มนักวรรณคดีการเมืองและศาสนาที่พยายามฟื้นฟูคุณค่าที่แท้จริงของภาษา สำนวน โวหารและอรรถรสที่แท้จริงของวรรณคดีอาหรับจากคลังของงานวรรณคดีอาหรับ-อิสลามในอดีต นักฟื้นฟูอิสลามเหล่านี้ต่างดิ้นรนที่จะเป่าวิญญาณลงไปในร่างที่อ่อนระทวยของวรรณคดีอาหรับและยังโดนสิงสู่โดยจิตวิญญาณตะวันตกแม้จะต้องฟันฝ่าอคติของโลกตะวันตกที่จ้องจับตาดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มเคร่งครัดศาสนาอย่างตาไม่กระพริบ ขณะเดียวกันกลุ่มอิสลามก็มิได้มีกิจกรรมเท่าที่เห็นฉาบฉวยเช่น การบรรยาย การคุตบะฮ์หรือที่เห็นผ่านสื่อเช่นการเดินขบวน การเผาธง ฯลฯ เท่านั้นแต่รวมถึงการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านการผลิตวรรณคดีให้ได้ตามมาตราฐานวรรณคดีอาหรับ-อิสลามแต่เดิม หลังจากที่งานวรรณคดีตกอยู่ในมือของนักเขียนและกวีโลกียะ(แนวยึดมั่นแต่โลกดุนยาหรือแนวแยกศาสนาออกจากรัฐ)มานาน งานวรรณคดีของกลุ่มอิสลามมิได้จำกัดการตีพิมพ์ผลงานอยู่ในตะวันออกกลางเท่านั้นแต่ตีพิมพ์มาจากหลายมหานครใหญ่ๆในตะวันตกที่มีจำนวนประชากรอาหรับอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากด้วยเช่นเดียวกัน

        ขบวนการฟื้นฟูดังกล่าวเรียกผลผลิตของตนว่าอัล อดับ อัล อิสลามมีย์หรือวรรณคดีอิสลามนั่นเอง และวรรณคดีนี้ครอบคลุมงานเขียนทุกประเภททางวรรณกรรม นักวรรณคดีอิสลามจะเตือนสติชาวอาหรับชาวอาหรับเสมอว่าวรรณคดีนั้นก็ไม่ต่างจากเรื่องของการเมืองอาหรับที่มีอิทธิพลของตะวันตกครอบงำอยู่ อิทธิพลตะวันและอาหรับ-อิสลามนี้ดำเนินไปควบคู่กันตั้งแต่สมัยอาณานิคมและตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือชาติอาหรับในแอฟริกาเหนือที่นิยมใช้ภาษาของเจ้าอาณานิคมตะวันตกหรือเขียนวรรณคดีอาหรับตามสีสันของภาษา สำนวนและจิตวิญญาณตะวันตก กระแสของวรรณคดีอิสลามส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันเริ่มมีนักเขียนในกลุ่มชาติอาหรับแถบแอฟริกาเหนือหันมาผลิตงานเป็นภาษาอาหรับมากขึ้น

        ปัจจุบันวรรณคดีอาหรับ ไม่ว่าแบบโลกียะ(ดุนยาวี)หรือแบบอิสลาม ต่างก็เป็นพลังขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมที่สำคัญในตะวันออกกลางและมีความสัมพันธ์กับวรรณคดีร่วมสมัยอื่นๆ โดยเฉพาะวรรณคดีตะวันตก ในเวลาเดียวกันวรรณคดีอาหรับก็มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับมรดกทางวัฒนธรรมแบบอาหรับ-อิสลามอย่างแยกไม่ออกและส่วนหลังนี้เองที่ทำให้วรรณคดีอาหรับมีอัตลักษณ์และอรรถรสที่โดดเด่นในแวดวงวรรณคดีของโลก

(สรุปความจากArabic Literature : An Overview ใน Encyclopedia Of The Modern Islamic World ของJohn L. Esposito Editor in Chief)
อ้างอิงจาก
https://sites.google.com/site/dranasnet/home/academic-articles/arabic-literature

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น