เบดูอินเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่สำคัญและน่าสนใจ
และถือได้ว่าชีวิตและการดำเนินอยู่ของเบดูอินนั่นสามารถสื่อและแสดงอัตลักษณ์ที่แท้จริงของชาวเร่ร่อนเหนือทะเลทรายและเป็นโฉมหน้าของผู้คนแห่งอาระเบียที่แท้จริง ดังนั้นเพื่อความกระจ่างและเป็นพื้นฐานที่จะทำความเข้าใจในมวลหมู่ชาวอาหรับทั้งมวล ซึ่งพัฒนาการมาจนถึงปัจจุบันนี้จำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องมาทำความรู้จักกับวิถีและชีวิตที่แท้จริงของชาวเบดูอินให้กระจ่างยิ่งขึ้น
ชาวเบดูอินจะอาศัยอยู่ในกระโจมที่ทำด้วยขนแกะหรือขนม้า มีทรัพย์สมบัติเท่าที่สามารถบรรทุกไปบนหลังสัตว์เท่านั้น กระโจมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกเป็นของผู้ชาย
อีกส่วนหนึ่งเป็นของผู้หญิง เด็ก และข้าวของที่จำเป็น ชาวเบดูอินจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ส่วนที่เล็กที่สุดคือครอบครัว (Family) แต่ละครอบครัวจะรวมกันเป็นตระกูล
(Clan) ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันทางสายเลือดและรวมตระกูลเป็นเผ่า
(Tribe) มีผู้อวุโสที่สุดเป็นหัวหน้าเผ่าเรียกว่า
“ชัยคฺ” (ชีค) (Shaykh) และใช้ชื่อบรรพบรุษไว้หน้าชื่อร่วมกัน
ความกล้าหาญเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เบดูอินจำเป็นต้องป้องกันตัวเองให้รอดชีวิตจากการโจมตีของศัตรู
ทั้งหมดนี้จะต้องได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากครอบรัว
การมีชีวิตอยู่รอดขึ้นอยู่กับการเกาะกลุ่มกับครอบครัวเป็นหนึ่งเดียว
การจะได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนเบดูอินต้องยอมรับกฎและค่านิยมของครอบครัว โดยการรวมผลประโยชน์ของครอบครัว มีความซื่อสัตย์และจงรักภัคดีต่อครอบครัว ผู้ชายเป็นหัวหน้าของครอบครัว
และกลุ่มคนในครอบครัวที่เกี่ยวดองเป็นญาติจะถูกปกครองโดยชายที่เป็นหัวหน้าของตระกูล
ผู้ชายจะต่อสู้ ล่าสัตว์
เลี้ยงสัตว์
และมีสังคมกับผู้ชายกับครอบครัวอื่นๆ
ผู้หญิงจะอยู่รวมกันอย่างใกล้ชิด
ขณะที่ผู้ชายออกไปหาเลี้ยงสัตว์
ผู้หญิงจะซ่อมแซมกระโจม
เก็บฟืน เตรียมอาหาร และเลี้ยงดูเด็ก ทอผ้าด้วยขนสัตว์ ทำพรม
เด็กชายจะถูกเลี้ยงและได้รับการเอาใจใส่อย่างดีเพื่อสืบตระกูลของครอบครัว ถ้าครอบครัวมีลูกผู้หญิงพอแล้วทารกหญิงที่เกิดใหม่จะถูกฝังทั้งเป็น
รอบครัวขยายเป็นหลายครอบครัวและเป็นตระกูลในหลายอายุคน
เมื่อหัวหน้าตระกูลตายลูกชายแต่ละคนที่แต่งงานแล้วจะเป็นตระกูลในหลายอายุคน เมื่อหัวหน้าตระกูลตายลูกชายแต่ละคนที่แต่งงานแล้วจะเป็นผู้นำของครอบครัวใหม่และเริ่มตระกูลใหม่
แต่ละตระกูลจะตั้งชื่อจากบรรพบุรุษตระกูลหลายตระกูลรวมกันเป็นเผ่าเมื่อมีการแยกเผ่าจะมีเผ่าที่คงเหลืออยู่เพื่อสืบเชื้อสายบรรพบุรุษโดยใช้ชื่อตระกูลเดิม
เผ่าที่แยกออกไปจะตั้งชื่อใหม่
ดังนั้นทุกเผ่าจะประกอบด้วยเชื้อสายตระกูลเป็นเครือญาติกัน
หัวหน้าเผ่าหรือชัยคฺ (Shaykh) จะถูกคัดเลือกโดยตระกูลที่เป็นเชื้อสายเดียวกับเผ่า จะเป็นผู้ที่มีอายุมากที่สุด
หรือเป็นสมาชิกคนสำคัญที่ถูกเลือกมาจากญาติใกล้ชิดและได้รับการเป็นชอบจากทุกตระกูลในเผ่า และรักษาตำแหน่งด้วยบุคลิกลักษณะที่เข้มแข็ง ตัดสินปัญหาข้อขัดแย้งด้วยความฉลาด ถ้าเมื่อใดสมาชิกในเผ่าไม่ให้ความยินยอมหัวหน้าเผ่าก็ต้องออกจากตำแหน่ง
หัวหน้าเผ่าใช้อิทธิพลเหนือคนในเผ่า ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหรือผู้นำในที่ประชุม (Majlis) จะเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยถกเถียงปัญหาที่สำคัญทุกวันและรับเรื่องราวร้องเรียนหรือข้อหารือจากสมาชิกของเผ่าในเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องของสาธารณะ เป็นหน้าที่ของที่ประชุมที่จะแก้ไขปัญหายุติข้อขักแย้งและตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับเผ่า
ที่ประชุมจะประกอบด้วยผู้ชายจากทุกครอบครัว
แต่ผู้มีอวุโสจะได้รับความนับถือและมีอิทธิพลมากกว่า
หัวหน้าจะได้รับความเห็นชอบโดยเอกฉันท์จากสมาชิกในการตัดสินปัญหา เมื่อขัดแย้งไม่สมารถหาข้อยุติได้ในตระกูลต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมซึ่งจะประกอบด้วยผู้ที่แทนจากทุกหน่วยครอบครัว
ความขัดแย้งภายในเผ่าจะมีการประนีประนอมโดยบุคคลที่มีความเกี่ยวพันทางสายเลือดกับคู่กรณี
แต่ความขัดแย้งระหว่างเผ่าอาจไม่สามารถยุติได้ด้วยการเจรจาต่อรอง
แต่จะเป็นความอาฆาตระหว่างตระกูล ที่จะต้องต่อสู้แก้แค้นด้วยสายเลือดโดยคณะ 5
บุคคล ซึ่งก็คือญาติที่มีความเกี่ยวดองกัน 5 ระดับ รวมทั้งญาติที่ห่างออกไป เช่น
ลูกพี่ลูกน้องชั้นที่ 2 ถ้าเป็นผู้ชายถูกฆ่าตายญาติที่เกี่ยวดองกัน 5 ระดับ
จะเป็นผู้กระทำตอบ
หรือแก้แค้นสมาชิกในตระกูลของผู้กระทำผิดที่อยู่ในความเกี่ยวดองกันจะต้องร่วมรับผิดชอบในการกระทำผิดของสมาชิก
และมีความชอบธรรมที่จะถูกฆ่าในการแก้แค้นนั้นด้วย
โดยปกติผู้กระทำผิดจะหนีไปหาที่หลบภัยอยู่กับเผ่าที่ห่างไกลออกไป
และพยายามต่อรองค่าเสียหาย และกลับมาเจรจาหลังจากญาติผู้เสียหายที่เป็นสมาชิกทั้ง
5 ระดับ ลดความโกรธแค้นลง
หากการเจรจาต่อรองระหว่างสองเผ่าไม่เป็นผลต้องใช้ผู้อาวุโส (ชัยคฺ) จากเผ่าที่เป็นกลางมาช่วยเจรจา
ซึ่งจะจบลงด้วยการจ่ายค่าทดแทนให้แก่เผ่าที่สูญเสีย
แต่ละเผ่าจะต่อสู้เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของเผ่า และแก้แค้นแก่ผู้ทำร้ายสมาชิกของเผ่า อันถือเป็นหน้าที่ผูกพันที่จะแก้แค้นแก่เผ่าที่เป็นผู้กระทำ ไม่ใช่ต่อบุคคลคู่กรณีซึ่งจะล้างแค้นด้วยความอาฆาตสืบต่อหลายชั่วอายุคน จนบางครั้งสูญสลายไปทั้งเผ่า
พวกเบดูอินจะอ้างสิทธิในอาณาเขตที่มีทุ่งหญ้า
และบ่อน้ำที่ได้ใช้อยู่เป็นประจำครอบครัวที่สืบเชื้อสายของตระกูลแต่ละเผ่าจะเป็นเจ้าของบ่อน้ำ
หรือโอเอซิสที่สมาชิกของเชื้อสายปลูกต้นอินทผลัมและพืชผัก พื้นที่อาณาเขตของเผ่าอาจให้แก่เพื่อนของเผ่าและครอบครัว
เผ่าต่างๆ
จึงพยายามรักษาความเป็นเพื่อนระหว่างครอบครัวหรือเผ่าให้กว้างขวางออกไป
เพื่อที่จะได้มีแหล่งทรัพยากรที่ต้องการเมื่อต้องอยู่ในภาวะจำเป็น
ชาวเบดูอินจะถือประโยชน์ของเผ่าเป็นสำคัญ เมื่อผลประโยชน์ของเผ่าขัดกัน
จึงมีการต่อสู้ทำสงครามระหว่างเผ่าอยู่เสมอ
การปล้นสะดมก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีพนอกเหนือจากการเลี้ยงสัตว์
กลอนโบราณของอาหรับกล่าวว่า
“เป็นหน้าที่ของเราในการปล้นสะดมศัตรู หรือเพื่อนบ้าน
หรือพี่น้องของเราเอง ถ้าไม่มีผู้ใดให้เราปล้นได้”
การปล้นสะดมหรือการรุกรานจะใช้เวลาหลายเดือนและกินระยะทางไกลเพื่อมิให้ผู้ถูกรุกรานตามแก้แค้นได้ง่าย
ทรัพย์สินที่ยึดมาได้จะถูกแบ่งปันในระหว่างการเลี้ยงฉลองจะมีการร้องรำทำเพลง
ซึ่งกลายเป็นตำนานในความกล้าหาญของผู้รุกราน การรุกรานหรือปล้นสะดม
หรือสงครามระหว่าเผ่ามีกฎพื้นฐานว่าต้องมีความยุติธรรมจะทำได้หลังการประกาศสงคราม
และกับผู้เท่าเทียมกันซึ่งสามารถจะต่อสู้หรือโต้ตอบได้เท่านั้น
การรุกรานจะไม่ทำระหว่างเที่ยงคืนถึงพระอาทิตย์ขึ้น
เนื่องจากเชื่อว่าวิญญาณของมนุษย์ได้ล่องลอยออกจากร่างกายขณะนอนหลับ เบดูอินจะหนีเมื่อศัตรูมีจำนวนมากกว่า
จะไม่ฆ่าผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือนักโทษ
อะเศาะบียะฮฺ (‘Asbabiyah) หรือจิตวิญญาณของตระกูลซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของอาหรับ
บ่งชี้ถึงความซื่อสัตย์อย่างไร้ขอบเขต และปราศจากเงื่อนไขต่อเพื่อนร่วมตระกูล
และในความหมายกว้าง ๆ อาจจะสอดคล้องกับลัทธิรักชาติที่มีรูปแบบคลั่งไคล้และอคติ
บทกาพย์ตอนหนึ่งได้รำพันไว้ว่า “จงซื่อสัตย์ต่อเผ่าพันธุ์ของสูเจ้า”
ซึ่งเสียงเรียกร้องดังกล่าวนี้
มั่นคงพอที่จะโน้มน้าวเหล่าสามีจนทอดทิ้งภรรยาอันเป็นที่รักได้อย่างง่ายดาย
ลักษณะพิเศษเฉพาะซึ่งขจัดมิได้ของตระกูล ซึ่งเป็นบุคลิกภาพของปัจเจกสมาชิกตระกูลที่ขยายใหญ่
เชื่อว่าตระกูลหรือเผ่าพันธุ์
อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นหน่วยทางสังคมที่สมบูรณ์ในตัวเอง พึ่งพาตนเองได้
และมีลักษณะตายตัวแน่นอนและมองว่าตระกูลหรือเผ่าพันธุ์อื่น ๆ นั้น
คือเหยื่อที่ชอบธรรมของตนเอง และเป็นเป้าหมายของการปล้นสะดมและการฆาตกรรมได้
อิสลามในระยะแรกได้ใช้ประโยชน์จากระบบเผ่าเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านการทหารอย่างเต็มที่
กองทัพมุสลิมได้ถูกจัดแบ่งหน่วยรบต่าง ๆ เหมือนกับการแบ่งเผ่า
สามารถแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนในดินแดนที่ถูกบุกเบิกใหม่ไปตามสภาพของแต่ละเผ่า
และได้ปฏิบัติต่อผู้เข้ารับอิสลามใหม่จากเผ่าต่าง ๆ ฉันท์พี่น้อง
ลักษณะที่ไม่เป็นมิตรของลัทธิความคลั่งไคล้ในตัวเองนี้ ไม่เคยที่จะถูกครอบงำได้
โดยบุคลิกภาพอาหรับแบบใหม่ที่ได้เริ่มพัฒนาและเปิดโฉมหน้าขึ้นหลังจากการกำเนิดของอิสลาม
และความคลั่งไคล้ดังกล่าวจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดที่นำไปสู่การขาดเสถียรภาพและการล่มสลายในบั้นปลายของรัฐอิสลามในยุคต่างๆ
ในขณะเดียวกันชาวอาหรับก็มีคุณลักษณะที่ตรงข้ามกับที่กล่าวมาข้างต้น
คือ มีความมีมรรยาท มีไมตรี ความอ่อนโยน และใจกว้างเมื่อเป็นเจ้าภาพผู้ถูกรับเชิญจะถูกคาดหมายว่าจะรับคำเชิญและรับของขวัญ
การต้อนรับแขกด้วยอัธยาศัยไมตรีเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ต้องแสดงความใจกว้าง
ทั้งที่อาจจะต้องฆ่าอูฐตัวสุดท้าย เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงแขก
ถ้าคนแปลกหน้าหรือแม้แต่ศัตรูตอบรับเชิญมางานกินเลี้ยง ชาวเบดูอินจะถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องปกป้องชีวิตของผู้มาเยือนไว้ด้วยชีวิตของตัวเอง
[1]
ภาพชีวิตท้องถิ่นของชาวอาหรับที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดในบทนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอาหรับที่ในเวลาต่อมามีการพัฒนาการและการรวมหมู่เข้าสู่ศูนย์กลางของอำนาจและจิตใจในนามของอิสลาม เป็นศาสนาอิสลามอันกลายเป็นภาพลักษณ์และศูนย์รวมความเป็นประชาชาติ และขับเคลื่อนไปในห้วงประวัติศาสตร์ของชนชาติที่น่าสนใจที่สุดครั้งหนึ่งของโลก
________________________________________
[1] อนันตชัย จินดาวัฒน์. แผ่นดินอาหรับ
ประวัติศาสตร์และความเปลี่ยนแปลง. 2554. กรุงเทพฯ: ยิปซี.
อ้างจาก : มูหัมมัดมันซูร หมัดเร๊าะ. อิทธิพลของวัฒนธรรมอาหรับต่อสังคมมลายูในจังหวัดปัตตานี. วิทยานิพนธ์อิสลามศึกษามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, หน้า 75-81.
ภาพจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/File:Bedouin_family-Wahiba_Sands.jpg
อ้างจาก : มูหัมมัดมันซูร หมัดเร๊าะ. อิทธิพลของวัฒนธรรมอาหรับต่อสังคมมลายูในจังหวัดปัตตานี. วิทยานิพนธ์อิสลามศึกษามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, หน้า 75-81.
ภาพจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/File:Bedouin_family-Wahiba_Sands.jpg
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น