ประกาศข่าว ยังไม่มีข่าวใหม่ครับ

Widgets

สังคมโลกยุคก่อนนบีมุฮัมหมัด : ความคลั่งไคล้ในเผ่าพันธุ์และเชื้อชาติของชาวอาหรับ


     ความรู้สึกชาตินิยมในเผ่าพันธุ์และเชื้อชาติรุนแรงมาก  เนื่องจากสภาพความอวิชชาของชาวอาหรับ  ดั่งสุภาษิตอาหรับโบราณว่า

انصر أخاك ظالمًا أو مظلومًا
“จงช่วยเหลือพี่น้องของท่านไว้ก่อน  ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้กดขี่หรือผู้ถูกกดขี่ก็ตาม”
 นั่นคือพวกเขาจะช่วยเหลือเข้าข้างกันโดยไม่คำนึงว่าพวกตนจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิดนั่นเอง

                
      ในสังคมชาวอาหรับประกอบด้วยหลายชนชั้น  หลายตระกูล ซึ่งล้วนแล้วแต่เห็นว่า พวกตนประเสริฐเลิศเลอกว่า พวกเขาต่างหยิ่งในเกียรติและจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดๆ  กับบุคคลต่างเผ่ามากนัก แม้กระทั้งในช่วงพิธีกรรมฮัจญ์ เช่นจะไม่พำนักอยู่ที่ทุ่งอะรอฟะฮฺพร้อมกับบุคคลทั่วไป แต่จะทำพิธีเวียนวิหารกะบะฮฺตั้งสุดท้ายและเสร็จพิธีก่อนพวกอื่น และการฝ่าฝืนเดือนต้องห้าม  เป็นต้น  อำนาจและตำแหน่งสูงศักดิ์หรือต่ำศักดิ์ก็เป็นเรื่องผูกขาดของตระกูลที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษในสังคมจึงประกอบด้วยชั้นสามัญและคนทั่วไป ความเลื่อมล้ำชนชั้นนี้ได้หยั่งรากลึกในสังคมอาหรับจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน

     นิสัยชอบการทำศึกสงครามก็นับเป็นสันดานที่มีมาแต่เดิมของชาวอาหรับ  ทั้งนี้เนื่องจากสภาพชีวิตแบบแร่ร่อน  ทำให้การต่อสู้เป็นดั่งสิ่งปลอบประโลมใจ หรือความบันเทิงของพวกเขา  เช่นกล่าวเป็นลำนำทำนองว่า

وَأَحْيَانًا عَلَى بَكْرِ أَخِيْنَا   إِذَا مَالَمْ يَجِدْ إِلَّا أَخَانَا 
 “แม้นเผ่าบักร์พรรคพวกกูก็สู้รบ
เมื่อไม่พบเผ่าอื่นมาท้าประลอง”

      เมื่อสงครามหลั่งเลือดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย เพียงสาเหตุที่ไร้สาระเช่นการสู้รบระหว่างเผ่าบักร์และตัฆลับ  ซึ่งเป็นสองพี่น้องบุตรของวาอิล ที่ดำเนินต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานถึง 400 ปี ทำให้สูญเสียเลือดเนื้อไปมากมาย สาเหตุของสงครามเกิดขึ้นเพียงเพราะกุลัยบ์ (หัวหน้าเผ่าของมะอัด) ขว้างเต้านมของอัลบุสูซ บุตรีของมุนกิซ  จนเลือดไหลผสมกับน้ำนมของมัน  ทำให้ญัซซาซ บุตรมุรเราะห์ฆ่ากุลัยบ์เสียชีวิต  กระทั่งลุกลามขึ้นเป็นสงครามใหญ่โตระหว่างเผ่าบักร์และตัฆลับ


     การนองเลือดที่โหดเหี้ยมนี้ได้รับการบันทึกโดยอัล-มุฮัลฮัล  พี่ชายของกุลัยบ์ว่า “ชีวิตทั้งหลายต้องพินาศย่อยยับ แม้ต้องพลัดพรากลูกรัก ลูกๆ ต้องกลายเป็นกำพร้า น้ำตาไม่เคยเหือดแห้ง และซากศพแทบไม่มีแผ่นดินกลบฝัง”
                
     ทำนองเดียวกันกับสงครามระหว่างดาหิซ และอัล-ฆ็อบรออ์ ซึ่งเกิดจากสาเหตุเพียงเล็กน้อย  คือครั้งหนึ่ง  ก็อยซ์บินซุฮัยร์ได้เดิมพันแข่งม้ากับหุซัยฟะฮ์บุตรของบัดร์  ม้าของก็อยซ์ชื่อดาหิซ และม้าของหุซัยฟะฮ์ชื่ออัล-ฆ็อบรออ์โดยในช่วงแรกดาหิซนำหน้าอัล-ฆ็อบรออ์ แต่หุซัยฟะฮ์เล่นไม่ซื่อด้วยการวานให้อะซะดีย์ซึ่งเป็นสหายของเขาไปทำร้ายดาหิซให้บาดเจ็บ สุดท้ายดาหิซเป็นฝ่ายแพ้ ความทราบถึงก็อยซ์ จึงมีเรื่องชกต่อยกัน และลุกลามกลายเป็นการฆ่าและการล้างแค้นตามมา เผ่าต่างๆ ก้เข้าช่วยเหลือสมาชิกในเผ่าพันธุ์ของตน  มีการจับผู้คนเป็นเชลย และการอพยพละทิ้งถิ่นฐาน ทำให้ประชาชนจำนวนหลายพันคนต้องล้มตายเกลื่อนกลาด
                
     ชีวิตคนเหล่านั้นเป็นเหมือนตาข่ายที่ถักทอจากมรดกแห่งความอาฆาตพยาบาทที่ถ่ายทอดมาจากพ่อสู่ลูก ประกอบกับด้วยสภาพการณ์ใช้ชีวิตแบบเบดุอินที่ไร้สิ่งอำนวยความสะดวก  ความโลภ  ความป่าเถื่อน  ความพยาบาท และไม่เห็นคุณค่าของชีวิตผู้คน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยให้เกิดการลอบทำร้ายและการปล้นสะดมระหว่างเผ่าพันธุ์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
               
      แผ่นดินคาบสมุทรอาหรับดูราวเป็นทุ่งสังหารที่ผู้คนทั้งหลายไม่อาจทราบได้ว่าตนอาจโดนลอบฆ่าหรือทำร้ายเมื่อไหร่ บางคนถูกลักพาตัวต่อหน้าต่อตาครอบครัวและพวกพ้องของตนเอง แม้กระทั่งชาติมหาอำนาจในขณะนั้นต้องอาศัยยามรักษาการณ์และกองกำลังที่เข้มแข็ง  ดังเช่นกองคาราวานของคอสโรแห่งเปอร์เซีย  เมื่อผ่านเมืองต่างๆ ของชาวอาหรับยังต้องมีการคุ้มกันอย่างแน่นหนา โดยว่าจ้างกองกำลังคุ้มกันอย่างแน่นหนา โดยว่าจ้างกองกำลังคุ้มกันจากเมืองต่างๆ จนกระทั่งถึงปลายทาง เช่นว่าจ้างอัล-นุอ์มาน บินอัล-มุนซิรให้คุ้มกองคาราวานผ่านเมืองอัล-หัยเราะห์ เพื่อป้องกันภัยจากเผ่าบนีรอบีอะฮ์ เมื่อถึงเมืองยะมามะฮ์ก็ว่าจ้าง ฮูซะฮ์ บินอลี อัล-หะนาฟีย์ต่อไปกระทั่งกองคาราวานเดินทางพ้นจากอาณาเขตของเผ่าบนีหะนีฟะฮ์  หลังจากนั้นยังว่าจ้างคนของเผ่าตะมีมเพื่อคุ้มกันกองคาราวานไปจนถึงเยเมน กระทั่งสามารถส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้กับคณะผู้สำเร็จราชการของคอสโรที่อยู่ ณ เมืองเยเมน [1]

________________________________________
[1]  อบุลหะซัน อาลี อัล-นัดวีย์. Islam and the world โลกสูญเสียอะไรจากความตกต่ำของประชาชาติมุสลิม. 2554. กรุงเทพฯ: โครงการส่งเสริมการวิจัยและเขียนตำรามหาวิทยาลัยอิสลามยะลา.


ภาพจาก 
http://www.yasmin-alsham.com/vb/attachment.php?attachmentid=631&stc=1&d=1238574589  

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น