ประกาศข่าว ยังไม่มีข่าวใหม่ครับ

Widgets

คำนำบรรณาธิการแปลหนังสือ อาหรับ


ผมยืนมองแผ่นดินเผาขนาดความยาวไม่เกินหนึ่งฝ่ามือที่วางอยู่บนชั้นจัดแสดงวัตถุโบราณในพิพิธภัณฑ์ของเมืองอเล็ปโปด้วยความรู้สึกหลายอย่างระคนกัน  แผ่นดินเผาเหล่านี้เต็มไปด้วยร่องรอยของการกดและขีดเป็นร่องตื้นๆ แต่ก็เห็นได้ว่ามีการจัดรอยเหล่านี้อย่างมีระเบียบสม่ำเสมอ แม้จะไม่ค่อยเห็นเส้นขีดยาวๆ แบบเส้นบรรทัด แต่ก็เกือบเห็นเป็นแนวยาวต่อเนื่องกันไปเหมือนตัวอักษรที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้  คำอธิบายสั้นๆ ที่วางอยู่คู่กันบอกว่าแผ่นดินเผาเหล่านี้คืออักขระแบบคูนีฟอร์มซึ่งมาจากยุคสมัยที่ต่างกัน บางชิ้นเก่าแก่เกือบเจ็ดพันปี  และอย่างที่เราทราบกันอยู่แล้วว่าคูนีฟอร์มมาจากคำว่า คูเนอุส (cuneus) ในภาษาละตินซึ่งแปลว่าลิ่ม  ทั้งนี้ก็เพราะด้านตัดขวางของร่องที่เกิดจากการกดเหล่านี้เป็นรูปสามเหลี่ยมกลับหัวเหมือนกับด้านที่มีคมของลิ่ม  อักขระเหล่านี้เริ่มจากการวาดขึ้นเป็นรูปภาพแล้วจึงค่อยๆ ลดเส้นลงจนกลายมาเป็นรูปเชิงสัญลักษณ์  ในสมัยแรกๆ มีสัญลักษณ์แบบนี้ประมาณ 2,000 แบบและทำหน้าที่เป็นพยัญชนะ  ต่อมาจึงลดจำนวนลงเหลือประมาณ 600 แบบ และมีการเพิ่มสระตลอดจนสัญลักษณ์อื่นๆ ที่ช่วยกำหนดการออกเสียง เชื่อกันว่าอักขระชนิดหลังนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณ 3,400 ปีที่แล้วที่เมืองอูการิต (Ugarit) อันเป็นเมืองอยู่ชายฝั่งทะเลของประเทศซีเรีย (ปัจจุบัน)  ภาษาอันเก่าแก่เหล่านี้ถูกส่งทอดให้พวกฟีนิเซียนนักการค้าทางเรือสมัยโบราณซึ่งได้นำไปแพร่กระจายยังชุมชนการค้าอื่นๆ ทั้งที่อยู่ริมทะเลและที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน  ข้อความเท่าที่เราทราบจากการอ่านแผ่นดินเผาเหล่านี้จึงมีทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้าคู่ขนานไปกับกฎระเบียบชนิดอื่นๆ ของสังคม เช่นศาสนา ข้อความทางราชการ กิจกรรมของผู้นำ และความเป็นไปของสังคม  อักขระอันเป็นตัวฐานของภาษาเหล่านี้ถูกส่งทอดไปให้กับพวกกรีกซึ่งขยายอิทธิพลออกไปอย่างกว้างขวางด้วยกิจกรรมทางการค้าและสงคราม  จนกระทั่งท้ายสุดเราจึงพบว่าภาษากรีกได้เป็นผู้วางรากฐานให้กับภาษาต่างๆ ของยุโรปในระยะเวลาต่อมา
          แน่นอนว่าเรื่องราวซึ่งอยู่ในอักขระคูนีฟอร์มที่ผมมองเห็นอยู่ตรงหน้าไม่ได้สื่อสารบอกเรื่องราวกับผมโดยตรงเพราะผมอ่านอักขระเหล่านี้ไม่ออก แต่สาระของมันได้ถูกถ่ายทอดผ่านภาษาอื่นๆ หลายซับหลายซ้อนตามระยะเวลาที่ผ่านมาจนกลายมาเป็นภาษาอังกฤษ แล้วจึงเข้ามาสู่การรับรู้ของผมเป็นภาษาไทย  ทำให้ความทรงจำจากอดีตอันยาวไกลสามารถเดินทางผ่านข้ามกาลเวลา สถานที่ และวัฒนธรรมมาถึงผมซึ่งยืนอยู่ในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความฉงนฉงายใคร่รู้และแรงบันดาลใจให้กับผมอย่างมากมาย
          ผมมีโอกาสได้เดินทางไปยังซีเรียและประเทศอื่นๆ ข้างเคียงในฐานะนักท่องเที่ยวเมื่อปี 2538 ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมือง “ยังดีอยู่”  ทั้งสถานที่ต่างๆ และผู้คนมากหลายที่ได้พบปะล้วนแล้วแต่เป็นการตกผลึกของเหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่ตกทอดผ่านกันมาอย่างยาวนานจากอดีต แต่การพบเห็นของนักท่องเที่ยวแบบผมก็เป็นเพียงสิ่งที่ผิวเผินซึ่งเป็นเพียงความประทับใจของอาคารสถานที่ในเชิงสถาปัตยกรรมและความงดงามของวัตถุเชิงศิลปะในประวัติศาสตร์ เช่นความงดงามของมหาสุเหร่าของเมืองดามัสกัสหรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่าสุเหร่าอุมัยยะฮ์ (ศตวรรษที่ 8)  ทั้งสถาปัตยกรรมและลวดลายประดับให้กลิ่นอายของศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามเป็นส่วนผสมกันของตะวันตกกับตะวันออก เพราะสุเหร่านี้ตั้งทับซ้อนลงบนโบสถ์คริสต์ที่เรียกว่าโบสถ์แห่งนักบุญจอห์นเดอะบัพติสท์ที่มีมาก่อนแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ 4   ที่เมืองฮามะ (Hama) นั้นมีกังหันวิดน้ำอยู่หลายตัวซึ่งเรียกในภาษาอาหรับว่า นอริอา (Noria) กังหันแต่ละตัวนั้นล้วนแล้วแต่มีขนาดใหญ่โต เช่นตัวที่ใหญ่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้ง 21 เมตร  กังหันเหล่านี้เคยทำหน้าที่ลำเลียงส่งน้ำเลี้ยงเมืองและชุมชนเกษตรกรรมมาตั้งแต่สมัยโรมันและปัจจุบันก็ยังมีสภาพการใช้งานที่ดีอยู่  ตรงตำบลที่เป็นรอยต่อของเมืองตริโปลีกับฮอมส์ในปัจจุบัน มีป้อมปราการสมัยสงครามครูเสดที่ได้รับการบูรณะเอาไว้อย่างดีและรู้จักกันในนามของ แครก เดส์ เชอวาลิเอร์ (Krak des Chevaliers) ที่สร้างเป็นป้อมปราการป้อมค่ายทางทหารของนักรบฝรั่งเมื่อศตวรรษที่ 11 เพื่อควบคุมเส้นทางการจาริกแสวงบุญ (ซึ่งหมายถึงการค้าในขณะเดียวกัน) ไปยังนครเยรูซาเล็ม และท้ายสุดที่อยากยกตัวอย่างเอาไว้ตรงนี้ก็คือ โรงอาบน้ำสาธารณะที่ชาวอาหรับเรียกว่า ฮัมมั่ม แต่ฝรั่งเรียกว่า เตอร์กิชบาธ  เจ้าของโรงอาบน้ำที่อเล็ปโปให้ชื่อโรงอาบน้ำแห่งนี้ว่า อัล นะฮ์ฮะซีน และพูดเรียบๆ โดยไม่แสดงความโอ้อวดใดๆ ว่าโรงอาบน้ำของเขามีอายุ “แค่” ศตวรรษที่สิบสองเท่านั้น
          ผมนึกย้อนกลับไปหาความรู้สึกของตัวเองขณะนั้นก็ยังจำได้ว่ามันเป็นความประทับใจอย่างฉาบฉวยแบบนักท่องเที่ยวธรรมดาคนหนึ่งที่เห็นสถานที่สำคัญและวิถีชีวิตของผู้คนจากอดีตในสายตาของปัจจุบัน  ผมไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่นักวิชาการเรียกกันว่าการถ่ายโอนทางปัญญาของมนุษย์ที่ต่างวัฒนธรรมกัน ซ้ำยังมองไม่เห็นตัวอย่างรูปธรรมของปัญญาแบบโบราณในโลกตะวันตกที่สูญหายไปเกือบสิ้นเมื่อศาสนาคริสต์เข้าครอบงำยุโรปตลอดเกือบพันปี  “ปัญญาที่สาบสูญ” เหล่านี้เดินทางเข้ามาฝังตัว ถูกขยายความต่อเติม แตกกิ่งก้านสาขาผลิดอกออกผลอย่างงดงามในดินอันอุดมของพวกอาหรับ  แล้วจึงจะได้ถ่ายโอนย้อนกลับไปโลกตะวันตกอีกครั้งหนึ่งในนามของ “การฟื้นฟูศิลปะวิทยา” ของยุโรป ทั้งๆ ที่รูปธรรมของสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ปรากฏอยู่ตรงข้างหน้าผมที่ซีเรีย  ความจริงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดและไม่ได้มีเฉพาะในซีเรียเท่านั้น  หากแต่ยังมีอีกในเมืองอื่นๆ ตลอดทั่วทั้งโลก “ตะวันออก” (orient) ตั้งแต่อินเดียจนจรดตุรกี จากอียิปต์ไปจรดสเปน  หากแต่จุดอันเข้มข้นของมันอยู่ที่เมืองมะดีนะฮ์/มักกะฮ์ เยรูซาเล็ม ดามัสกัส แบกแดด ไคโร มาราเกช และคอร์โดบา ด้วยเหตุผลที่ว่าเมืองเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เคยเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมของกลุ่มชนที่เรียกว่า อาหรับ ทั้งสิ้น
          หากถอยเวลากลับไปสู่โลกโบราณอีกครั้งหนึ่ง เราก็จะพบว่าอารยธรรมโบราณของโลกซีกตะวันตก (ของเรา) นั้นเริ่มที่อารยธรรมของลุ่มน้ำขนาดใหญ่สองแห่ง  คือบริเวณที่เรียกกันว่าเมโสโปเตเมีย ซึ่งหมายถึงพื้นที่ของแม่น้ำ 2 สายอันได้แก่ ไทกริสและยูเฟรติสกับอีกลุ่มน้ำหนึ่งที่อยู่ใต้ลงไปคือที่ลุ่มแม่น้ำไนล์  ทั้งสองอารยธรรมนี้ก่อให้เกิดชุมชนเมืองและอาณาจักร  ก่อให้เกิดภาษาและการจดบันทึกขีดเขียน  เกิดระบบการค้า ศาสนาและสงคราม   ทั้งสองอารยธรรมปฏิสนธิต่อกัน  สร้างแบบแผนและวิถีชีวิตทางสังคมครอบคลุมพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาล  อาณาจักรต่างๆเกิดขึ้นและเสื่อมถอย สลายหายไปในแง่องค์กรของรัฐ หากแต่ตะกอนแห่งอารยธรรมทั้งของสุเมเรีย บาบีโลเนีย อัสสิเรีย แล้วตามมาด้วยเปอร์เซีย กรีก และโรมันยังดำเนินต่อไป แล้วตกทอดไปสู่ชนเผ่าที่ร่อนเร่ล้าหลังในพื้นที่อันทุรกันดารที่เรียกว่าอารเบีย หรือดินแดนของชาวอาหรับ
          ในแง่ของชาติพันธุ์แล้วชาวอาหรับคือพวกเซไมต์ที่มีชีวิตร่อนเร่แบบพวกเลี้ยงปศุสัตว์ขนาดเล็ก หรือเกษตรกรรมที่ล้าหลังเพราะความแล้งเข็ญของพื้นที่  ภาพใหญ่ของพื้นที่นี้เหมือนกับ “เกาะ” เพราะถูกกระหนาบด้วยทะเลกับทิวเขาอันสูงชันในขณะที่ใจกลางของพื้นที่นั้นเป็นทะเลทรายที่แห้งแล้ง  ชนเผ่าเซไมต์จึงอยู่กันอย่างกระจัดกระจายตามชุมชนปศุสัตว์ และชุมชนเกษตรกรรมขนาดเล็กของตัวเองอยู่ใน “เกาะ” นี้อย่างยาวนาน  อาจกล่าวโดยรวมๆ ว่า ระยะเวลาที่ยาวนานนี้ดำเนินจวบจนกระทั่งเกิดศาสนาใหม่ คือศาสนาอิสลามซึ่งเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 6 ตอนปลายโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกสิกรรมขนาดเล็กคือมะดีนะฮ์ และชุมชนการค้าขนาดใหญ่คือมักกะฮ์
          ศาสนาอิสลามกลายมาเป็นพลังที่เกาะเกี่ยวชาวเซไมต์ในอารเบียที่กระจัดกระจายให้เข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันได้เป็นครั้งแรก โดยมีภาษาอาหรับซึ่งแตกต่างไปจากภาษาต่างๆ ที่ใช้กันในโลก เพราะมีสถานะเป็นภาษาในทางศาสนาด้วย ภาษานี้จึงกลายเป็นภาษาอันศักดิ์สิทธิ์และใช้ทับซ้อนตลอดจนควบคู่กับภาษาท้องถิ่นแล้วได้กลายเป็นอีกพลังหนึ่งที่สำคัญซึ่งส่งเสริมพลังทางศาสนา จนกระทั่งกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน ผนวกผสานชุมชนปศุสัตว์ ชุมชนเกษตรกรรมและชุมชนการค้าเข้าด้วยกัน ก่อตัวขึ้นเป็นเมือง เป็นรัฐและอาณาจักรในท้ายสุด
         ด้วยพัฒนาการอันซับซ้อน ศูนย์กลางของรัฐศาสนาใหม่นี้ได้ประกาศแยกตัวออกจากเยรูซาเล็มนครศักดิ์สิทธิ์โบราณเมื่อมีการกำหนดทิศของเมืองศักดิ์สิทธิ์ให้ย้ายมาอยู่ที่มะดีนะฮ์และมักกะฮ์แทนที่เยรูซาเล็มดังที่เคยทำมาในอดีต แต่ต่อมาอำนาจทางการเมืองของรัฐศาสนานี้ได้ย้ายศูนย์กลางจากมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ไปอยู่ที่ดามัสกัสของซีเรีย แล้วจึงแตกแขนงออกไปยังนครแบกแดดของอิรัก (ปัจจุบัน) การช่วงชิงทางการเมืองในระยะเวลาต่อมาได้นำไปสู่การเกิดศูนย์กลางทางการเมืองอีกแห่งหนึ่งที่คอร์โดบาในสเปน
          ศูนย์กลางของอำนาจรัฐแบบศาสนาทั้งหมดที่กล่าวถึงมานี้ได้ผนวกผสานขุมแห่งปัญญาที่หลากหลายทั้งกรีก โรมัน เปอร์เซียและไบซันไทน์  ก่อให้เกิดเป็นศิลปะวิทยาการที่เรืองรองที่สุดในโลกสมัยกลาง อันจะได้ส่งทอดกลับไปยังยุโรปผ่านสเปน ผ่านอิตาลีทางตอนใต้ และเมืองการค้าชายฝั่งทะเลของอิตาลีเข้าสู่ใจกลางของยุโรปต่อไป  ในอีกด้านหนึ่งก็แผ่ขยายเข้าสู่เอเชียกลางจนมาถึงดินแดนอนุทวีปอินเดียในที่สุด
          ด้วยความซับซ้อนของพัฒนาการอันยาวนานของอารยธรรมอาหรับที่กล่าวถึงข้างต้น จึงเป็นเหตุให้เกิดภาพทับซ้อนของความเป็น “แขก” อาหรับ เปอร์เซีย มัวร์ ซะระเซ็น เติร์กและอิสลาม-มุสลิมในสายตาของชาวสยามแบบเราๆ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกันกับสายตาของคนจำนวนไม่น้อยในโลก  อีกทั้งมีไม่น้อยเลยที่สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดทั้งความชื่นชมและอคติที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน
          ทั้งหมดที่ผมกล่าวถึงข้างต้นก็คือเนื้อหาสาระสำคัญของหนังสือเล่มที่ท่านกำลังถืออยู่ในมือขณะนี้
          อาหรับ คือชื่อของหนังสือในพากย์ภาษาไทยที่ผมดัดแปลงมาจากชื่อเดิมของหนังสือ History of the Arabs ที่ศาสตราจารย์ฟิลิป เค. ฮิตติ เขียนและตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1937 ในคราวนั้นท่านได้เขียนเชิงปรารภเอาไว้ในคำนำว่า “เป็นข้อเท็จจริงที่สาธารณชนแห่งอเมริกา, แม้กระทั่งในหมู่ผู้ที่มีการศึกษาเกือบทั้งหมดขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหรับและมุสลิม…” เป็นระยะเวลาถึง 4 ทศวรรษนับตั้งแต่บรรดาชาติมหาอำนาจทางตะวันตกได้เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากน้ำมันในตะวันออกกลางอันเป็นที่มาของความยุ่งเหยิงและความขัดแย้งทางการเมืองในภูมิภาคนั้นจวบกระทั่งถึงทุกวันนี้ คำกล่าวของศาสตราจารย์ฮิตติข้างต้นก็ยังคงใช้ได้แม้ในยุคสมัยปัจจุบัน
          ความ “ไม่รู้” ในเรื่องของอาหรับและมุสลิมของเราน่าจะแย่กว่าที่ศาสตราจารย์ฮิตติปรารภถึงชาวอเมริกันในคราวนั้นมากนัก ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อคราวที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ตัดสินใจตามแห่อเมริกากับอังกฤษไปอิรักเพื่อค้นหาอาวุธทำลายล้างอานุภาพร้ายแรง  โดยการส่งทหารไทยเข้าร่วมปฏิบัติการเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2546  เริ่มต้นด้วยส่งทหารไทย 21 นายและเดิมสัญญาว่าจะส่งไปสมทบอีก 400 นาย  ทั้งหมดถูกส่งไปประจำการที่เมืองกัรบะลา เขตที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของชาวอิรักและชาวมุสลิมที่สุดเพราะที่นี่เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมสาขาชีอะฮ์ อันเป็นเมืองที่ตั้งของสุเหร่า-สุสานของฮุซัยน์ หลานตาของศาสดามุฮัมมัดและเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดของสาขาชีอะฮ์  ในบรรดาทหารทั้ง 21 นายนี้เกือบไม่มีใครที่เป็นมุสลิม ยกเว้นร้อยตรีฟารุก มะลิวัลย์ เพียงคนเดียวและเข้าใจว่าอาจจะไม่มีใครเลยที่พูดภาษาอาหรับด้วยซ้ำไป  และอีกรูปธรรมหนึ่งที่เห็นได้ชัดแจ้งก็คือความยุ่งเหยิงที่กำลังเกิดอยู่ใน “สามจังหวัด” ชายแดนภาคใต้ขณะนี้
          ในปัจจุบันเรามีนักธุรกิจ พ่อค้าวาณิช ที่มุ่งไปทำการค้ากับประเทศที่พูดภาษาอาหรับจำนวนหนึ่ง  เราเคยมีแรงงานช่างฝีมือที่ไปขายแรงงานใน “ตะวันออกกลาง” อยู่ระยะหนึ่ง  เรามีสาธุชนที่เดินทางไปจาริกแสวงบุญเป็นรายปี  มีนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆ ที่เดินทางไปเยือนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ และยังมีนักวิชาการอีกจำนวนน้อยนิดที่เพิ่งเริ่มต้นศึกษาด้านประวัติศาสตร์และศิลปะของอารยธรรมแห่งภูมิภาคนี้  แต่เราก็คงจะพูดได้เต็มปากว่าเรายังขาดแคลนความรู้ที่เพียงพอเกี่ยวกับโลกอาหรับ  ดังสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมในรูปของหนังสือจำนวนน้อยเล่มที่เขียนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของที่นี่
          ด้วยเหตุผลดังกล่าวเมื่อผมเสนอโครงการแปลหนังสือ History of the Arabs ของศาสตราจารย์ฟิลิป เค.ฮิตติ ต่อมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546 ทางมูลนิธิโครงการตำราฯ ก็ให้การตอบรับและอนุมัติโครงการด้วยดี ซึ่งผมก็ต้องขอแสดงความขอบคุณต่อมูลนิธิโครงการตำราฯ เป็นอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันและจัดหาทุนสนับสนุนโครงการแปลจากมูลนิธิโตโยต้าประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผมขอแสดงความขอบคุณเอาในที่นี้ด้วยเช่นเดียวกัน  อย่างไรก็ตามโครงการแปลนี้เริ่มลงมือทำงานอย่างจริงจังเมื่อตอนกลางปี 2550 นี้เอง
          ตัวหนังสือ History of the Arabs ซึ่งเขียนโดยศาสตราจารย์ฟิลิป เค. ฮิตติ นี้ อยู่ในชุดเดียวกันกับหนังสือดังต่อไปนี้คือ A Short History of the West Indies (J.P. Parry and P. Sherlock); A History of Africa since 1800 (B. Freund); A History of Modern Indonesia (M. Ficklefs); A History of Modern Malaysia (B.W. Andaya and L.Y. Andaya); และ A History of South-east Asia (D.G.E. Hall) ซึ่งทั้งหมดได้รับการจัดพิมพ์โดย Macmillan International College Editions (MICE)
          ส่วนหนังสือ History of the Arabs นี้ เขียนขึ้นและตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1937 แล้วได้ปรับปรุงตีพิมพ์ต่อมาอีก 9 ครั้ง (1940, 1943, 1949, 1951, 1956, 1960, 1963, 1967 และ 1970)  ฉบับที่ใช้ในการแปลนี้ เป็นฉบับที่ปรับปรุงจากฉบับปี 1970 และตีพิมพ์เมื่อปี 2002 อันเป็นฉบับที่ได้รับการเขียนคำนำหน้าโดย Walid Khalidi ซึ่งเป็นศาสตราจารย์อาวุโสของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และปัจจุบันท่านเป็นศาสตราจารย์ด้าน American Academy of Arts and Sciences มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แมสสาชูเสตต์ โดยบริษัทที่จัดพิมพ์ฉบับนี้คือ Palgrave : Macmillan
          ผู้เขียนคือ ศาสตราจารย์ฟิลิป เค.ฮิตติ (Philip K. Hitti) นั้นเป็นชาวเลบานอน ท่านเกิดในปี 1886 แต่มาใช้ชีวิตและทำงานวิชาการในสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 1913 จนสิ้นชีวิตในปี 1978 โดยที่ท่านเริ่มงานสอนและวิจัยของท่านที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แล้วต่อมาจึงย้ายไปสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยปรินส์ตันจนเกษียณหน้าที่การงานที่นั่นในปี 1954 ขณะที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านงานเขียนและการประพันธ์ภาษาเซมิติก อีกทั้งยังเป็นประธานของภาควิชาภาษาตะวันออกของมหาวิทยาลัยปรินส์ตันอีกด้วย
          หนังสือเรื่อง History of the Arabs ของฮิตติเล่มนี้อาจถือได้ว่าเป็นงานชิ้นสำคัญของท่านเท่าๆ กับเป็นชิ้นสำคัญของงานศึกษาด้านอาหรับเลยทีเดียว ตัวเนื้อหาซึ่งครอบคลุมตั้งแต่อาหรับในสมัยแรกเริ่มจนมาถึงศตวรรษที่ 16 ต่อมาจึงมีการขยายเนื้อหานับตั้งแต่ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 5 ในปี 1950 และเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ จนเรื่องราวเดินมาถึงทศวรรษที่ 1960 เมื่อมีการตีพิมพ์ครั้งสุดท้าย
         เนื้อหาทั้งหมดนี้ถูกแบ่งออกเป็นหกส่วนใหญ่ๆ แล้วแต่ละส่วนจึงแยกย่อยเป็นบทต่างๆ รวมทั้งสิ้น 52 บท โดยที่ส่วนแรกว่าด้วยเรื่องความเป็นมาของชาวอาหรับในยุคสมัยก่อนที่ศาสนาอิสลามจะได้บังเกิดขึ้น เป็นการปูพื้นฐานให้เราได้ทราบถึงสภาพทางภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่ได้เพาะสร้างค่านิยม นิสัยใจคอแบบชาวอาหรับ ตลอดจนลักษณะทางสังคมอันจะมีส่วนที่ปฏิสัมพันธ์กับชนชาติอื่นๆ จนมาถึงศตวรรษที่ 6 แล้วจึงก่อเกิดศาสนาใหม่ที่แยกไปจากศาสนาที่เก่ากว่าคือศาสนายูดายและศาสนาคริสต์ ส่งเรื่องไปสู่ส่วนที่สองที่มีศาสนาอิสลามเป็นแกนกลางก่อตัวขึ้นเป็นรัฐทางศาสนาที่มีตำแหน่งผู้นำทางการเมืองสูงสุดที่เรียกว่ากาหลิบ ควบคุมดินแดนและรัฐอื่นๆ เข้ามาเป็นส่วนของอาณาจักรเดียวกัน
         ส่วนที่สามเป็นการให้รายละเอียดของเชื้อวงศ์ที่สำคัญคือวงศ์ของอุมัยยะฮ์และวงศ์อับบาสิยะฮ์ ซึ่งมีศูนย์กลางทางการเมืองและชีวิตสังคมอยู่ที่เมืองดามัสกัสในซีเรียและเมืองแบกแดดตามลำดับ ส่วนที่สามอันยืดยาวนี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อภูมิปัญญาด้านต่างๆ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การศึกษาและนิกายต่างๆ ในศาสนาอิสลาม ตลอดจนยุคทองของแต่ละวงศ์ และการเสื่อมถอยของทั้งสองวงศ์นั้น
         เมื่อมาถึงส่วนที่สี่จึงเป็นเรื่องราวของการย้ายศูนย์การเมืองไปสู่สเปนเมื่อเชื้อวงศ์อับบาสิยะฮ์พ่ายแพ้ทางการเมืองต่อวงศ์อุมัยยะฮ์จนต้องหนีไปตั้งอาณาจักรใหม่ของตนที่สเปนซึ่งอยู่ในยุโรปทางด้านใต้ ภูมิหลังทางปัญญาจึงเคลื่อนย้ายไปพัฒนาเป็นความเจริญก้าวหน้าทางปัญญาอีกลักษณะหนึ่งที่บริเวณนั้น ตลอดจนถึงการมีอิทธิพลต่อยุโรปทางด้านใต้
         การขยายตัวของอารยธรรมแบบอาหรับที่ขยายตัวคลุมทั้งเอเชีย อาฟริกาทางด้านเหนือและยุโรปทางด้านใต้ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากยุโรปจนกลายเป็นสงครามครูเสด อันจะเป็นรายละเอียดของเนื้อหาในส่วนที่ 5 ซึ่งด้านหนึ่งในบรรยากาศที่ว่านี้ก็ทำให้มีการก่อตัวขึ้นเป็นรัฐขนาดเล็กๆ ที่พยายามแยกตัวออกจากศูนย์กลาง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพันธมิตรเพื่อร่วมกันต่อต้านอำนาจของพวกยุโรป ต่อมาจึงมีชนกลุ่มใหม่อื่นๆ ขยายตัวเข้ามา เช่น มงโกลและพวกเติร์ก ผลของความพยายามดังกล่าวข้างต้นจึงมีทั้งการปรับปรุงวิทยาการด้านต่างๆ มีการจัดระบบบริหารราชการและหน่วยงาน ระบบภาษี ระบบสังคม และระบบการทหาร เนื้อหาของส่วนที่ห้าจบลงด้วยผลรวมของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ คือ การตั้งวงศ์ใหม่ของพวกเติร์ก หรืออาณาจักรออตโตมันซึ่งมีผู้นำทางการเมืองแบบใหม่ที่เรียกว่า กาหลิบ-สุลต่าน และสุลต่านอย่างเดียวในท้ายสุด
         ส่วนที่หกอันเป็นส่วนที่ผนวกเพิ่มเติมขึ้นเมื่อมีการปรับปรุงเนื้อหาของฉบับตีพิมพ์ในครั้งต่อๆ มาดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น เนื้อหาที่เพิ่มเติมขึ้นนี้เน้นไปที่รายละเอียดของอาณาจักรออตโตมัน การก่อตัวไปสู่ขบวนการชาตินิยมเพื่อต่อต้านการรุกคืบของมหาอำนาจตะวันตกสมัยใหม่ เกิดเป็นรัฐชาตินิยมของอาหรับแล้วก้าวเข้าสู่ยุคสมัยปัจจุบัน
         แม้ว่าเนื้อหาของหนังสือจะมีมากมายและดูเหมือนจะหนักหน่วง แต่ด้วยความรู้ที่มากมายลึกซึ้งของผู้เขียนได้ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยลีลาการเขียนอันเป็นธรรมชาติ (และบ่อยครั้งที่แฝงไปด้วยการวิพากษ์อย่างมีอารมณ์ขัน) เป็นการเขียนด้วยภาษาที่มีความไพเราะเชิงงานประพันธ์ จึงทำให้ข้อมูลประวัติศาสตร์เหล่านี้แพรวพราวไปด้วยเกร็ดรายละเอียดที่น่าสนใจ ซึ่งแม้จะอัดแน่นด้วยสาระแต่ก็ทำให้ข้อมูลเหล่านั้นมีความเป็นมนุษย์อันเป็นด้านที่นักวิชาการส่วนใหญ่มักขาดแคลน ท่วงทำนองเช่นนี้จึงทำให้ผู้อ่านทั่วไปสามารถติดตามเรื่องราวได้อย่างเพลิดเพลิน แต่ในขณะเดียวกันกับการที่ศาสตราจารย์ ฮิตติมีความลุ่มลึกในภาษาที่หลากหลายจึงทำให้ท่านสามารถใช้ข้อมูลชั้นต้นและข้อมูลจากหลากหลายภาษา ประกอบเข้ากันกับการวิจัยภาคสนามของพื้นที่ต่างๆ ตามเนื้อความ จึงทำให้หนังสือเล่มนี้สามารถใช้ในการอ้างอิงได้อย่างน่าเชื่อถืออันอาจเป็นฐานของการศึกษาต่อยอดขึ้นไปได้เป็นอย่างดีในแขนงสาขาของการศึกษาทางด้านนี้
         ในการแปลหนังสือเล่มนี้ ผมได้รับความกรุณาอย่างยิ่งจากเพื่อนๆ หลายท่านที่เข้ามาร่วมเป็นคณะผู้แปล ซึ่งผม ใคร่แสดงความขอบคุณเป็นอย่างสูง เพราะหากไม่มีความช่วยเหลือจากท่านเหล่านี้แล้ว ก็คงจะไม่มีหนังสือเล่มนี้ เช่นกัน รายนามผู้แปลซึ่งผมใคร่ที่จะระบุถึงมีดังต่อไปนี้คือ
คุณปรียา แววหงษ์ แปลบทที่ 1 – 7
อาจารย์สุภาภรณ์ อัศวไชยชาญ (คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) และคุณอัญชนา อัศวาณิชย์ แปลบทที่ 9 – 11
ดร.สุธีรา อภิญญาเวศพร (คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) แปลบทที่ 19 – 20
อาจารย์นิตยาภรณ์ พรมปัญญา (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) แปลบทที่ 26 และ 30
ดร.ปิยดา ชลวร (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) แปลบทที่ 31 – 33
คุณสิทธาเลิศไพบูลย์ศิริ (อาจารย์พิเศษโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และอาจารย์อรพรรณลีนะนิธิกุล (คณะวิเทศศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตภูเก็ต) แปลบทที่ 34–37
ดร.วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ (คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) แปลบทที่ 39 – 40
คุณวิไล ตระกูลสิน (นักแปลอิสระ) แปลบทที่ 45 – 47
ทรงยศ แววหงษ์ แปลส่วนที่เหลือไปจากนี้
     ในกระบวนการแปลหนังสือออกเป็นภาษาไทย แม้จะพยายามคงความตามภาษาอังกฤษและหลีกเลี่ยงการตีความและสรุปความแต่ก็เชื่อว่าอาจจะมีคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ปัญหาใหญ่ของหนังสือเล่มนี้อาจจะมีอีกในแง่ของการถอดเสียงออกมาเป็นภาษาไทย ซึ่งต้องขอเรียนท่านผู้อ่านว่าทางคณะผู้แปลได้ยึดหลักที่ว่าคำสะกดนั้นๆ จะต้องสามารถย้อนกลับไปสู่คำสะกดในภาษาต้นเดิมของผู้เขียนที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ ฉะนั้นสำหรับท่านที่ใช้ภาษาอาหรับได้หรือมีบางคำที่ท่านคุ้นเคยอยู่ก่อนแล้วก็อาจจะรู้สึกว่าไม่ตรงกับความเห็นของท่านได้ เช่นคำว่า ibn ก็จะได้ถอดออกมาเป็นภาษาไทยว่า อิบนฺ หรือคำว่า abd’ al ก็ไม่ได้สะกดเป็นอับดัล แต่คงใช้การสะกดเป็น อับดฺ อัล คำว่า Salāh-al-Dīn ก็ไม่ได้ถอดเป็นเสียง ซาลาดิน หรือ ซาลาดีนหรือ เศาะลาฮ์ดีน แต่สะกดเป็น ซอลาฮ์ อัล ดีน เป็นต้น  ที่ต้องเรียนให้ทราบต่อไปอีกก็คือ แม้ผู้แปลจะได้ยึดหลักเกณฑ์ตามการทับศัพท์ภาษาอาหรับฉบับราชบัณฑิตยสถานปี 2554 แต่ด้วยเหตุผลที่อยากจะให้ผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยภาษาอาหรับ ไม่เกิดความระย่นระย่อใจกับการอ่าน  เราจึงหลีกเลี่ยงในการใช้อักษรหลายตัวที่ยากต่อการอ่านออกเสียงในภาษาไทยสำหรับบุคคลทั่วไป เช่น sultan ก็ไม่ได้สะกดว่า สุลฏอน แต่สะกดว่าสุลต่าน  caliph ไม่สะกดว่า เคาะลีฟะฮ์ แต่สะกดว่า กาหลิบ ตามสำเนียงในภาษาอังกฤษของผู้เขียน ส่วนการสะกดที่กำกับว่าคำสระตัวนั้นๆ จะออกเสียงเป็นเสียงสั้นหรือเสียงยาวก็ได้ยึดหลักการคาดคะเนถึงความตั้งใจของผู้เขียน คือหากเป็น a ก็สะกดเป็นสระเสียงสั้น คือสระอะ  ในขณะที่ หากเป็น ā ก็จะออกเป็นเสียงยาว  เป็นเช่นเดียวกับ i หรือ ī, u หรือ ū เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็จะได้พิจารณาว่า สระเหล่านั้นตามหลังพยัญชนะตัวใด  ดังเช่น Salāh ก็สะกดเสียงเป็น ซอลาฮ์ แทนที่จะเป็น ซะลาฮ์  ในบางครั้งชื่อเดียวกันและเขียนอยู่ในข้อความที่ใกล้กัน แต่อาจจะสะกดต่างกัน เช่นคำว่า Marrakesh และ Marrākush นั้น ก็คาดคะเนว่าผู้เขียนตั้งใจที่จะให้เป็นเช่นนั้น จึงสะกดเป็นมาร์ราเกช (ตามสำเนียงในภาษาอังกฤษ) ในขณะที่คำหลังสะกดเป็นมัรรากุช เพราะมีเครื่องหมายกำกับอยู่จึงคาดว่าเป็นการสะกดตามการออกเสียงในภาษาอาหรับ  คำสุดท้ายที่อยากจะยกตัวอย่างมาแสดงเอาไว้ในที่นี้คือ คำว่า Byzantine ซึ่งโดยทั่วไปมักสะกดกันว่า ไบแซนไทน์, บีแซนทีน หรือไบแซนทีน  แต่ในที่นี้ได้สะกดว่าไบซันไทน์ เนื่องจาก ได้สอบถามท่านผู้รู้ (ต้องขอประทานโทษที่จะออกนามท่านคือ ศาสตราจารย์เบเนดิค แอนเดอร์สัน) ซึ่งท่านได้ให้คำอธิบายว่า หากออกเสียงเป็นบีแซนทีนก็จะมีนัยไปในทางลบ เพราะหมายถึงความมีเล่ห์เพทุบาย  ท่านจึงแนะนำว่าควรสะกด ไบซันไทน์  ในหนังสือเล่มนี้จึงสะกดเช่นนี้ตลอดทั้งเล่ม  อีกอย่างหนึ่งที่ท่านผู้อ่านคงจะสังเกตเห็นว่าตลอดทั้งเล่ม จะมีการวงเล็บเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นน้อยมาก ซึ่งอยากเรียนว่าเป็นความตั้งใจให้เป็นไปเช่นนั้นเพื่อความราบรื่นในการอ่าน ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเรียนท่านผู้อ่านอีกครั้งว่าหากคำสะกดต่างๆ อาจไม่ถูกใจท่านอยู่บ้างก็ต้องขอภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย
     ตลอดความยาวกว่าหนึ่งพันสองร้อยหน้าของหนังสือในพากย์ภาษาไทยนี้  มีชื่อและถ้อยคำในภาษาอาหรับ มากมายเกินกว่าจะนับได้ จึงเป็นงานอันหนักหน่วงของคณะผู้พิสูจน์อักษรที่ช่วยผมในการตรวจทานให้คำสะกดเหล่านี้มีความถูกต้อง คงเส้นคงวาตลอดทั้งเล่ม และในหลายกรณีท่านเหล่านี้ยังได้ช่วยเสนอคำที่เหมาะสมกว่า หรือการสลับตำแหน่งของคำเสียใหม่ ซึ่งก็พบได้ว่าทำให้สำนวนในภาษาไทยมีความราบรื่นมากขึ้น   ซึ่งงานดังกล่าวนี้ต้องอาศัยความเพียรพยายามและความอดทนเป็นอย่างยิ่ง  ผมจึงใคร่ที่จะออกนามท่านเหล่านี้เอาไว้เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณด้วยเช่นกัน ดังมีรายนามต่อไปนี้
1. สิริกาญจน์ รัตนเกตุ
2. ปารดา นุ่มน้อย
     ในขณะที่ผมแปลและบรรณาธิกรหนังสือ ในห้วงความคิดคำนึงมักจะมีภาพของคนต่างๆที่ผมได้พบตามรายทางของโลกในส่วนนี้ผุดขึ้นมาเสมอ เช่น เด็กชายวัยสิบกว่าขวบผู้มีผิวสีน้ำตาลผมสีอ่อนขมวดเป็นวงก้นหอยและมีนัยน์ตาสีฟ้าเข้มผู้เดินทางไปกับคาราวานรถบรรทุกบนเส้นทางทุรกันดารสายคาราโกลัมในตอนเหนือของปากีสถาน ภาพของชายอายุต้นห้าสิบผู้ร่าเริงและเชิญชวนให้เข้าชมโรงอาบน้ำ (ฮัมมั่ม) ในซีเรีย ภาพของชายอ้วนมีหนวดพูดเสียงดังอารมณ์ดีที่เข้ามาโอบกอดอย่างจริงใจในร้านอาหารของเมืองซะมัรรอในอิรัก ภาพของพ่อลูกที่นั่งอยู่บนขอบตลิ่งเหม่อมองดูสายน้ำในแม่น้ำไทกริสท่ามกลางพรมสีสดใสที่ถูกนำมาผึ่งให้แห้งหลังการซักล้างที่เมืองแบกแดด ภาพของเด็กชายชาวนูเบียที่กระโดดโลดเต้นร้องเพลงพร้อมตีกลองแบนแบบกลองรำมะนาอย่างร่าเริงเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยวที่ล่องเรือในแม่น้ำไนล์ของเมืองอัสวานประเทศอียิปต์ ภาพของนักเล่นกลที่มีงูและการแสดงแปลกๆ เพื่อดึงดูดฝูงชนและนักท่องเที่ยวกลางตลาดของเมืองมัรรากุชประเทศโมร็อกโก ภาพเหล่านี้เลื่อนไหลเข้ามาในความทรงจำของผมตลอดเวลา และหลายครั้งภาพของอาจารย์ดิเรก กุลศิริสวัสดิ์ ปราชญ์ชาวไทยมุสลิม ผู้แปล “สำเภากษัตริย์สุลัยมาน” ก็ผุดขึ้นมาด้วย คนเหล่านี้เป็นทั้งกำลังใจ เป็นทั้งแรงบันดาลใจให้ผมได้ทำงานนี้ต่อไปท่ามกลางความประหวั่นใจเพราะว่าได้ก้าวเข้ามาในพื้นที่ที่มิได้มีความชำนาญอย่างแท้จริง
     แรงบันดาลใจอีกแรงหนึ่งของผมคือชุมชนมุสลิมเล็กๆ ในอยุธยาที่ชื่อว่า ตะเกี่ย ที่ซึ่งทำให้ผมรู้จักความหมายของคำว่า “ซะลาม” อย่างแท้จริง
ทรงยศ แววหงษ์

หากสนใจสั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ สามารถสั่งซื้อโดยตรงได้ที่  ศูนย์หนังสือจุฬาฯ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น