คำนามในภาษาอาหรับนั้น ท่านสามารถจะทราบและมองออกจากการสังเกต “เครื่องหมายเฉพาะ” ของมันดังที่จะอธิบายต่อไป แม้ว่าท่านอาจจะไม่รู้ความหมายของมันก็ตาม
เครื่องหมาย (عَلاَمَةٌ) ที่จะรู้จักคำนามมีอยู่มากมาย แต่ในที่นี้ จะอธิบายเฉพาะเครื่องหมายที่สำคัญ 4 ประการ คือ อลีฟลาม, ตันวีน, หุรูฟญัรฺ และการอ่านแบบญัรฺ ต่อไปนี้คือคำอธิบายลักษณะเครื่องหมายแต่ละอย่างดังต่อไปนี้
ก. اَلْ (อะลีฟ ลาม) اَلْเป็นพยัญชนะ 2 ตัวที่ติดรวมอยู่ ด้านหน้าของคำนาม
ตามปกติ اَلْ ในทางภาษาจะมีความหมายหลายนัย แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะใช้ اَلْ บ่งบอก “ตัวตนที่ชัดเจน” ของคำนามที่มันนำหน้า ซึ่งโดยนัยนี้ความหมายของ اَلْ ในภาษาอาหรับก็จะตรงกับคำว่า The ในภาษาอังกฤษนั่นเอง โปรดดูตัวอย่างการเปรียบเทียบคำนามภาษาอาหรับที่มี اَلْ นำหน้า และคำนามภาษาอังกฤษที่มี The นำหน้า ตลอดจนความหมายของมันดังต่อไปนี้...
ภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ คำแปล
1. اَلرَّجُلُ The man ผู้ชายคนนั้น
2. اَلطَّائِرُ The bird นกตัวนั้น
3. اَلْمَدِيْنَةُ The town เมืองใหญ่นั้น
4. اَلتِّمْسَاحُ The crocodile จระเข้ตัวนั้น
5. اَلْكُرَةُ The ball ลูกบอลลูกนั้น
คำนามต่างๆที่มี اَلْ นำหน้าตามตัวอย่างข้างบนนี้ จะบ่งบอกความหมายของตัวตนที่ชัดเจน ดังที่ได้เน้นตัวหนาและขีดเส้นใต้ไว้นั้น แต่ถ้าท่านตัด اَلْ ในภาษาอาหรับ(หรือ The ในภาษาอังกฤษ) ออกไป ความหมายของคำนามข้างต้นก็จะไม่เน้นตัวตนที่ชัดเจน แต่จะเปลี่ยนเป็นบ่งบอกเป็นความหมายกว้างๆแทน
ซึ่งจากตัวอย่างคำนามทั้ง 5 คำนั้น หากตัด اَلْ ออกไป ก็จะเหลือดังนี้
رَجُلٌ แปลว่า ผู้ชายคนหนึ่ง (คือ จะเป็นใครก็ได้ที่มีอวัยวะเพศเพศชาย),
طَائِرٌ แปลว่า นกตัวหนึ่ง (จะเป็นนกตัวไหนก็ได้),
مَدِيْنَةٌ แปลว่า เมืองใหญ่เมืองหนึ่ง,
تِمْسَاحٌ แปลว่า จระเข้ตัวหนึ่ง,
كُرَةٌ แปลว่า ลูกบอลลูกหนึ่ง เป็นต้น
สรุปแล้ว คำทุกคำในภาษาอาหรับ หากมี اَلْ อยู่ข้างหน้า ถือว่า คำนั้นๆ เป็นคำนามทั้งสิ้น
ข. تَنْوِيْنٌ (สระคู่หรือสระซ้อน)
คำว่า ตันวีน (تَنْوِيْنٌ) ตามความเข้าใจทั่วๆไป หมายถึง “สระคู่” หรือ “สระซ้อน” ซึ่งถูกเขียนไว้ที่ “พยัญชนะตัวสุดท้าย” ของคำนามที่ไม่มี اَلْ
ทั้งนี้ เพราะ اَلْ และ تَنْوِيْنٌ จะอยู่รวมกันในคำๆเดียวกันไม่ได้
อย่างเช่นคำว่า الَمَدْرَسَةُ (โรงเรียนหลังหนึ่ง) ท่านจะอ่านหรือเขียนว่า اَلْمَدْرَسَةٌ (โดยใส่สระซ้อนที่ตัว ة)ไม่ได้
ตันวีน (تَنْوِيْنٌ) ถือเป็นเครื่องหมายเฉพาะของคำนาม (إِسْمٌ) เช่นเดียวกับ اَلْ
หมายความว่า คำใดมีตันวีนอยู่ที่พยัญชนะตัวสุดท้ายของมัน คำนั้นจะต้องเป็นคำนาม (إِسْمٌ) เสมอ
สระคู่หรือสระซ้อนดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสระ ضَمَّةٌ ซ้อนคือ (-ٌ--), หรือสระ فَتْحَةٌ ซ้อนคือ (-ً--), หรือสระ كَسْرَةٌ ซ้อนคือ (-ٍ--) เรียกว่า ตันวีน ทั้งสิ้น
และอย่างที่ได้อธิบายผ่านมาแล้วว่า คำนามอิสระ-- คือยังไม่ได้เป็นส่วนประกอบของประโยคใดๆ -- พยัญชนะตัวสุดท้ายของมันจะใส่สระอะไรก็ได้ โดยความหมายจะไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ตัวอย่างคำนามที่มี “ตันวีน” ของสระทั้งสามเป็นเครื่องหมาย
فُنْدُقٌ, فُنْدُقًا, فُنْدُقٍ : แปลว่า โรงแรมหลังหนึ่ง
إِمْرَأَةٌ, إِمْرَأَةً, إِمْرَأَةٍ : แปลว่า สตรีผู้หนึ่ง
مُهَنْدِسٌ, مُهَنْدِسًا, مُهَنْدِسٍ : แปลว่า วิศวกรคนหนึ่ง
رَطَانَةٌ, رَطَانَةً, رَطَانَةٍ : แปลว่า อูฐฝูงหนึ่ง
غَنِىٌّ, غَنِيًّا, غَنِىٍّ : แปลว่า เศรษฐีคนหนึ่ง
หมายเหตุ
สิ่งที่ท่านจะต้องรับรู้ ณ ที่นี้ก็คือ ข้อเท็จจริงของคำว่า تَنْوِيْنٌ ไม่ได้หมายถึงสระคู่หรือสระซ้อน ดังที่ได้อธิบายมาตั้งแต่ต้น แต่ที่ได้อธิบายไปอย่างนั้น ก็เพื่อความสะดวกต่อการเข้าใจในขั้นต้นเท่านั้น
ทว่าความหมายจริงๆของ تَنْوِيْنٌ ก็คือ نُوْنٌ سَاكِنَةٌ (นูนตาย, นูนที่เป็นตัวสะกด) ซึ่งอยู่ที่ท้ายคำ และเป็นเสียงอ่านของสระซ้อนเหล่านั้น
ส่วนสระคู่หรือสระซ้อน ถือเป็นเพียง “สัญลักษณ์” หรือ “เครื่องหมาย” แทนค่า تَنْوِيْنٌ อีกทีหนึ่ง
ให้ท่านสังเกตตัวอย่างของตันวีน (นูนตาย) ซึ่งจะปรากฏเป็นเสียงอ่าน, และให้สังเกต “สัญลักษณ์” ของตันวีน (คือสระคู่หรือสระซ้อน) ซึ่งปรากฏเป็นตัวเขียนดังต่อไปนี้
สัญลักษณ์ของตันวีน (สระคู่) ในการเขียน ตันวีน (นูนตาย) ตามเสียงอ่าน
فِلْفِلٌ (แปลว่า พริกไทย) فِلْفِلُنْ (อ่านว่า ฟิลฟิลุ่น)
دُبٌّ(แปลว่า หมี دُبُّنْ (อ่านว่า ดุบบุ้น)
سُلَحْفَاةٌ (แปลว่า เต่า) سُلَحْفَاتُنْ (อ่านว่า สุละฮ์ฟาตุ้น)
بِحَارٌ(แปลว่า มหาสมุทร) بِحَارُنْ (อ่านว่า บิหารุ่น)
مُرْقِدٌ(แปลว่า สิ่งที่ทำให้หลับ, ยานอนหลับ) مُرْقِدُنْ (อ่านว่า มุรฺกิดุ้น) สรุปแล้ว “สระคู่” ไม่ว่าจะเป็นสระในรูปแบบใด จึงมิใช่เป็น “ตัวตน” ที่แท้จริงของตันวีน ดังความเข้าใจโดยผิวเผินทั่วไป, แต่มันเป็นเพียง “สัญลักษณ์ที่ใช้เขียนแทนค่าตันวีน” – คือนูนตาย -- เท่านั้น
จะอย่างไรก็ตาม เพื่อมิให้เกิดความสับสนและเพื่อความสะดวกในการเรียน ในชั้นนี้จึงอนุโลมให้ถือว่า “ตันวีน” ก็คือ “สระคู่” ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น
ค. حُرُوْفُ الْجَرِّ (หุรูฟญัรฺ)
คำว่า حُرُوْفُ الْجَرِّ เป็นพหูพจน์ของคำว่า حَرْفُ الْجَرِّ ที่ได้เคยกล่าวถึงมาแล้วในตอนต้น
ท่านอาจจะสงสัยว่า หุรูฟญัรฺ (حَرْفُ الْجَرِّ) คืออะไร ?
حَرْفُ الْجَرِّ ก็คือ คำบางคำ, หรือพยัญชนะบางตัวซึ่งมีสระกำกับอยู่จนมีความหมาย .. ดังจะได้อธิบายต่อไป
ถ้าท่านเคยศึกษาไวยากรณ์ไทยหรือไวยากรณ์อังกฤษมาแล้ว ก็จะทราบได้ทันทีว่า ความหมายโดยทั่วๆไปของ “หุรุฟญัรฺ” ในภาษาอาหรับ จะตรงกับ “คำบุพบท” ในวิชาไวยากรณ์ไทย หรือคำ Preposition ในวิชาไวยากรณ์อังกฤษนั่นเอง
กฎเกณฑ์ที่ท่านจะต้องจดจำให้ขึ้นใจในที่นี้ก็คือ حَرْفُ الْجَرِّ เป็นเครื่องหมายที่ใช้ “นำหน้า” เฉพาะคำนามเท่านั้น, และจะทำหน้าที่บังคับคำนามข้างหลังให้ต้องอ่านแบบ جَرٌّ (ญัรฺ) เสมอ
การอ่านแบบญัรฺ ก็คือ อ่านด้วยสระกัสเราะฮ์ (สระอี) ที่พยัญชนะตัวสุดท้ายของคำนาม
นอกจาก “สระกัสเราะฮ์” ซึ่งถือเป็นเครื่องหมายหลัก แล้ว การอ่านแบบญัรฺ ยังมี เครื่องหมายรอง อีก 2 อย่าง .. ดังจะได้อธิบายต่อไป
การอ่านแบบญัรฺนี้ จะมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อ่านแบบ ค็อฟฎ์ (خَفْضٌ)
หากท่านอยากรู้ว่า หุรูฟญัรฺที่นำหน้าคำนามได้นั้น มีกี่ตัว ?
คำตอบก็คือ حُرُوْفُ الْجَرِّ มีทั้งหมด 20 ตัวด้วยกัน แต่ที่มักจะเจอบ่อยในตำราภาษาอาหรับและจะแนะนำให้รู้จักในขั้นต้นนี้มี 8 ตัว คือ
1. مِنْ (แปลว่า จาก, ซึ่งบ่งบอกถึงจุดเริ่มต้นการกระทำ)
2. إِلَى (แปลว่า ไปถึง, ไปยัง, ไปสู่ .. หมายถึงจุดสิ้นสุดการกระทำ)
ตัวอย่างเช่น
ประโยคว่า ذَهَبَ الْمُعَلِّمُ مِنَ الْمَنْزِلِ إِلَى الْجَامِعَةِ : แปลว่า อาจารย์ท่านนั้นไป จาก บ้านพัก สู่ มหาวิทยาลัย
จากตัวอย่างข้างต้น คำว่า اَلْمُعَلِّمُ (ครู, อาจารย์), และคำว่า اَلْمَنْزِلِ (ที่พัก, บ้าน)และคำว่า اَلْجَامِعَةِ (มหาวิทยาลัย) ล้วนเป็นคำนาม เพราะทั้ง 3 คำนั้น ต่างมี اَلْ (อลีฟลาม) ซึ่งเป็นเครื่องหมายของคำนามดังกล่าวมาแล้วข้างต้น กำกับอยู่ข้างหน้า
นอกจาก اَلْ แล้ว สองคำหลังคือ คำว่า اَلْمَنْزِلِ และ اَلْجَامِعَةِ ยังมีหุรูฟญัรฺ คือ مِنْ และ اِلَى กำกับอยู่ข้างหน้าด้วยอีกต่างหาก
และเมื่อทั้ง 2 คำนี้มีหุรูฟญัรฺกำกับอยู่ข้างหน้า มันก็จะต้อง อ่านแบบญัรฺ --- คือ อ่านด้วยสระกัสเราะฮ์หรือสระอี --- ที่ตัว لِ และตัว ةِ ซึ่งเป็นพยัญชนะตัวสุดท้ายของแต่ละคำเท่านั้น, จะอ่านมันด้วยสระอู (ضَمَّةٌ) หรือสระอา (فَتْحَةٌ) ในกรณีนี้ไม่ได้ทั้งสิ้น
3. عَنْ (แปลว่า จาก, หมายถึงแยกจาก, พรากจาก, ห่างจาก, หลุดออกจาก, ตายจาก เป็นต้น)
ตัวอย่างเช่น
การพูดว่า مَاتَ إِبْرَاهِيْمُ عَنْ أَهْلِهِ : แปลว่า นายอิบรอฮีมได้ตายจากลูกเมียของเขาแล้ว
หรือพูดว่า رَمَيْتُ السَّهْمَ عَنِ الْقَوْسِ : แปลว่า ฉันยิงลูกธนู (หลุด) ออกจากคันธนู เป็นต้น
คำว่า أَهْلِهِ (ลูกเมีย, ครอบครัว) และคำว่า اَلْقَوْسِ (คันธนู) เป็นคำนาม เพราะอยู่หลังจากหุรุฟญัรฺ คือ عَنْ, .. และทั้ง 2 คำนั้นต้องอ่านแบบญัรฺ – คืออ่านด้วยสระกัสเราะฮ์ที่ตัวสุดท้าย -- เช่นเดียวกัน
4. عَلَى (แปลว่า บน, ข้างบน, ด้านบน)
ตัวอย่างเช่น
การพูดว่า وَضَعْتُ الْكِتَابَ عَلَى الْمَكْتَبِ : แปลว่า ฉันวางหนังสือเล่มนั้นไว้บนโต๊ะเขียนหนังสือ
คำว่า اَلْمَكْتَبِ (โต๊ะเขียนหนังสือ) เป็นคำนามและอ่านแบบญัรฺ เพราะอยู่หลังจากหุรูฟญัรฺ คือ عَلَى
5. فِىْ (แปลว่า อยู่ใน, ข้างใน)
ตัวอย่างเช่น
การพูดว่า اَلْمَاءُ فِى اْلإِبْرِيْقِ : แปลว่า น้ำอยู่ใน คนโท
หรือพูดว่า اَلْيَمَامَةُ فِى الْقَفَصِ : แปลว่า นกเขา อยู่ใน กรง
คำว่า اَلإِبْرِيْقِ (คนโท, เหยือกน้ำ) และคำว่า اَلْقَفَصِ (กรงนก) เป็นคำนามและอ่านแบบญัรฺ เพราะอยู่หลังจากหุรูฟญัรฺ คือ فِىْ
6. بِ (แปลว่า ด้วย, โดย)
ตัวอย่างเช่น
การพูดว่า رَسَمَتْ خَدِيْجَةُ بِالْمِرْسَمَةِ : แปลว่า คอดีญะฮ์วาด (ภาพ) ด้วย ดินสอ
หรือพูดว่า لِتَذْهَبْ بِسَلاَمٍ : แปลว่า ขอให้คุณเดินทาง โดย สวัสดิภาพ
คำว่า اَلْمِرْسَمَةِ (ดินสอ) และคำว่า سَلاَمٍ (ปลอดภัย, สวัสดิภาพ) เป็นคำนาม และอ่านแบบญัรฺทั้ง 2 คำ เพราะอยู่หลังจากหุรูฟญัรฺ คือ بِ
7. كَ (แปลว่า เหมือน, คล้าย, เสมือน .. อันเป็นคำเปรียบเทียบความคล้ายคลึงของสิ่งสองสิ่ง)
ตัวอย่างเช่น
การพูดว่า وَجْهُهَا مُضِيْئَةٌ كَالْبَدْرِ : แปลว่า หน้าของหล่อน ผ่องใสเหมือนจันทร์เพ็ญ
หรือพูดว่า خَالِدٌ شُجَاعٌ كَالنَّمِرِ แปลว่า คอลิด กล้าหาญเหมือนเสือโคร่ง
คำว่า اَلْبَدْرِ (จันทร์เพ็ญ) และคำว่า اَلنَّمِرِ (เสือโคร่ง) เป็นคำนามและอ่านแบบญัรฺ เพราะอยู่หลังจากหุรูฟญัรฺ คือ كَ
8. لِ (แปลว่า เพื่อ, แก่, ให้แก่, เป็นกรรมสิทธิ์ของ, เป็นสิทธิของ, เนื่องจาก เป็นต้น)
ตัวอย่างเช่น
การพูดว่า فَعَلْتُ كَذَا لِلْوَطَنِ : แปลว่า ฉันทำอย่างนี้ เพื่อบ้านเกิดเมืองนอน
หรือพูดว่า كُلُّ شَئْ ٍفِى هَذَاالْبَيْتِ لِمُحَمَّدٍ : แปลว่า ทุกอย่างในบ้านหลังนี้ เป็นกรรมสิทธิ์ ของมุหัมมัด
หรือพูดว่า هَذَااْلاِصْطَبْلُ لِلْبَقَرِ : แปลว่า คอกนี้ เป็น (สิทธิ) ของวัว เป็นต้น
คำว่า اَلْوَطَنِ (บ้านเกิดเมืองนอน), คำว่า مُحَمَّدٍ (มุหัมมัด) และคำว่า اَلْبَقَرِ (วัว) ล้วนเป็นคำนาม และอ่านแบบญัรฺทั้งสิ้น เพราะอยู่หลังจากหุรูฟญัรฺ คือ لِ
หมายเหตุ
ลาม لِ ที่เป็นหุรูฟญัรฺนี้ จะอ่านได้ 2 ลักษณะคือ
1. อ่านด้วย สระกัสเราะฮ์ (สระอิ คืออ่านว่า لِ)
การอ่านด้วยสระกัสเราะฮ์ดังกล่าวจะมีใน 2 กรณี คือ
ก. คำนามข้างหลังลาม เป็น คำนามธรรมดาทั่วๆไป ( ภาษาอาหรับเรียกว่า إِسْمٌ ظَاهِرٌ) ดังตัวอย่างคำว่า لِلْوَطْنِ، لِمُحَمَّدٍ، لِلْبَقَرِ ที่ผ่านมาข้างต้น
ข. คำนามด้านหลังลาม เป็นตัว ىْ (แปลว่า ของฉัน, ของผม, ของข้าพเจ้า, ของดิฉัน, ของกู) อันเป็น สรรพนามของบุรุษที่หนึ่ง (ผู้พูด) คนเดียว (ภาษาอาหรับเรียกว่า ضَمِيْرٌ لِلْمُتَكَلِّمِ وَحْدَهُ)
ตัวอย่างเช่น การพูดว่า هَذِهِ النُّقُوْدُ لِىْ : แปลว่า ธนบัตร (เงิน) เหล่านี้ เป็น ของฉัน
ตัว ل ซึ่งเป็นหุรูฟญัรฺดังกรณีข้างต้น ให้อ่านด้วยสระกัสเราะฮ์ ดังที่เห็นนั้น
2. อ่านด้วยสระฟัตหะฮ์ (สระอา คืออ่านว่า لَ)
การอ่านดังกล่าว จะใช้ในกรณีคำข้างหลังจากลามหุรูฟญัรฺ เป็นคำสรรพนาม ของบุรุษที่หนึ่งหลายคน (คือคำว่า نَا ในภาษาอาหรับซึ่งตรงกับคำว่า เรา ในภาษาไทย, และไวยากรณ์อาหรับจะเรียกสรรพนามนี้ว่า ضَمِيْرُالْمُتَكَلِّمِ مَعَ الْغَيْرِ) หรือเป็นสรรพนามของบุรุษที่สอง (คู่สนทนา เช่นคำว่า คุณ, เธอ, มึง, เอ็ง เป็นต้น ภาษาอาหรับเรียก مُخَاطَبٌ) หรือเป็นสรรพนามของบุรุษที่สาม (ผู้ที่ถูกกล่าวถึง เช่นคำว่า เขา, พวกเขา, หล่อน, มัน เป็นต้น, ภาษาอาหรับเรียกว่า غَائِبٌ)
ตัวอย่างเช่น พูดว่า لَـنَا แปลว่า สำหรับเรา, ของเรา,
หรือพูดว่า لَهُ แปลว่า สำหรับเขา, ของเขา, (หรือของมัน),
หรือพูดว่า لَهُمْ แปลว่า สำหรับพวกเขา, ของพวกเขา,
หรือพูดว่า لَهَا แปลว่า สำหรับหล่อน, ของหล่อน เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ل ซึ่งเป็นหุรูฟญัรฺที่นำหน้าคำสรรพนามในตัวอย่างเหล่านี้ จะอ่านด้วยสระ فَتْحَةٌ (สระอา) ทั้งสิ้น
ง. اَلْجَرُّ (อ่านแบบญัรฺ)
เครื่องหมายคำนามที่จะแนะนำเป็นข้อสุดท้ายก็คือ การอ่านแบบญัรฺ
คำว่า اَلْجَرُّ (อ่านแบบญัรฺ) กับ حَرْفُ الْجَرِّ (หุรูฟญัรฺ) มีความหมายแตกต่างกัน
“اَلْجَرُّ” หมายถึง “การอ่านด้วยสระกัสเราะฮ์” (สระอี) – หรือเครื่องหมายรองของสระกัสเราะฮ์ ดังจะได้อธิบายต่อไป -- ที่พยัญชนะตัวสุดท้ายของคำ
ส่วน “حَرْفُ الْجَرِّ” หมายถึง “คำหรือพยัญชนะที่นำหน้าคำนาม” และบังคับคำนามข้างหลังมันให้อ่านแบบญัรฺ
ตัวอย่างของคำนามที่อ่านแบบญัรฺ ก็คือตัวอย่างของคำนามที่อยู่หลังจากหุรูฟญัรฺที่ผ่านมาแล้วในคำอธิบายเรื่องหุรูฟญัรฺ จึงไม่ขออธิบายซ้ำ ณ ที่นี้อีก
ถ้าสังเกตให้ดีก็จะพบว่า มีคำนามจำนวนมากที่มีเครื่องหมายคำนามอยู่ในตัวเองไม่ใช่แค่เครื่องหมายเดียว แต่อาจจะเป็น 2 หรือ 3 เครื่องหมาย !
ตัวอย่างเช่น ประโยคที่ว่า اُنْظُرْ إِلَى لَبُوْءَةٍ : จงดูที่สิงโตตัวเมียตัวนั้นซิ !
คำว่า لَبُوْءَةٍ (สิงโตตัวเมีย) เป็นคำนาม, มีเครื่องหมายของคำนามอยู่ 3 ประการคือ มี إِلَى ซึ่งเป็นหุรูฟญัรฺนำหน้า, มีตันวีน คือสระซ้อนอยู่ที่ตัว ةٍ, และอ่านแบบญัรฺ คืออ่านด้วยสระกัสเราะฮ์ที่ตัว ة ซึ่งเป็นพยัญชนะตัวสุดท้าย หรือประโยคที่ว่า نَامَ الطَّائِرُ فِى الْعُشِّ : นกตัวนั้น นอนอยู่ในรัง
คำว่า اَلطَّائِرُ เป็นคำนาม, มีเครื่องหมายคำนามจากที่กล่าวมาแล้วเพียงประการเดียวคือมี อลีฟลาม (اَلْ)
ส่วนคำว่า اَلْعُشِّ (รังนก) เป็นคำนาม, .. แต่มีเครื่องหมายของคำนามอยู่ 3 ประการคือ มี فِىْ ซึ่งเป็นหุรูฟญัรฺนำหน้า, .. มี اَلْ ข้างหน้า, .. และอ่านแบบญัรฺ คือมีสระกัสเราะฮ์ที่ตัว شِ ซึ่งเป็นพยัญชนะตัวสุดท้าย
--------------------------------
ข้อมูลจาก : หนังสือภาษาอาหรับอย่างง่าย เล่ม 1 โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย รองประธานฝ่ายวิชาการชมรมมุสลิมภาคใต้ และฝ่ายวิชาการโรงเรียนอัลมูวาห์ฮิดีน
***อ่านเเล้วคอมเม้นด้านล่างด้วยครับ-- ชุกรอน
2 ความคิดเห็น:
เยี่ยมมากค่ะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจ
عَلاَمَاتُ اْلإِسْمِ : เครื่องหมายของคำนาม ~ เอกภาษาอาหรับ ม.อ. ปัตตานี >>>>> Download Now
>>>>> Download Full
عَلاَمَاتُ اْلإِسْمِ : เครื่องหมายของคำนาม ~ เอกภาษาอาหรับ ม.อ. ปัตตานี >>>>> Download LINK
>>>>> Download Now
عَلاَمَاتُ اْلإِسْمِ : เครื่องหมายของคำนาม ~ เอกภาษาอาหรับ ม.อ. ปัตตานี >>>>> Download Full
>>>>> Download LINK
แสดงความคิดเห็น