องค์ประกอบของประโยค
مَايَتَأَلَّفُ الْكَلاَمُ مِنْه
องค์ประกอบของประโยค
مَايَتَأَلَّفُ الْكَلاَمُ مِنْه
นักศึกษาวิชาไวยากรณ์อาหรับทุกท่านโปรดทราบ !
ประโยคต่างๆในภาษาอาหรับ ไม่ว่าจะมีสักกี่ร้อยกี่พันประโยค แต่จะมีองค์ประกอบเพียง 3 ประเภทเท่านั้นที่จะเข้าร่วมทำหน้าที่ต่างๆในประโยคเหล่านั้น องค์ประกอบทั้ง 3 ประเภทได้แก่
1. إِسْمٌ (คำนาม)
2. فِعْلُ (คำกริยา)
3. حَرْفٌ (คำเชื่อม, คำประกอบอื่นๆที่มิใช่คำนามและคำกริยา)
ต่อไปนี้ คือคำอธิบายโดยสังเขปเกี่ยวกับองค์ประกอบของประโยคแต่ละประเภทข้างต้น
คำนาม (إِسْمٌ)
คำนามหรือ إِسْمٌ หมายถึงคำที่แสดงความหมายว่าเป็นคน, สัตว์, สิ่งของต่างๆ, เมืองต่างๆ, ต้นไม้, แม่น้ำ, ลำธาร, ท้องฟ้า, ภูเขา ฯลฯ ...
ตัวอย่างเช่น
ตัวอย่างคำนามในภาษาอาหรับ | |
أَحْمَدُ : นายอะห์มัด, | خُطَّافٌ : นกนางแอ่น, |
لَنْدَنُ : กรุงลอนดอน, | اَلْبَشْنِيْنُ : ดอกบัว |
بُرْكَانٌ : ภูเขาไฟ | اَلسَّمَاءُ : ท้องฟ้า |
اَلسِّكِّيْنُ : มีดใหญ่ | اَلْهُدْبُ : ขนตา |
مِسْمَارٌ : ตะปู | سَمَكٌ : ปลา |
حِصَانٌ : ม้า | اَلضِّفْدَعُ : กบ |
เครื่องหมายของคำนาม (عَلاَمَاتُ اْلإِسْمِ)
ก. اَلْ (อะลีฟ ลาม)
اَلْเป็นพยัญชนะ 2 ตัวที่ติดรวมอยู่ ด้านหน้าของคำนาม ตามปกติ اَلْ ในทางภาษาจะมีความหมายหลายนัย แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะใช้ اَلْ บ่งบอก “ตัวตนที่ชัดเจน” ของคำนามที่มันนำหน้า ซึ่งโดยนัยนี้ความหมายของ اَلْ ในภาษาอาหรับก็จะตรงกับคำว่า The ในภาษาอังกฤษนั่นเอง
โปรดดูตัวอย่างการเปรียบเทียบคำนามภาษาอาหรับที่มี اَلْ นำหน้า และคำนามภาษาอังกฤษที่มี The นำหน้า ตลอดจนความหมายของมันดังต่อไปนี้
ภาษาอาหรับ | ภาษาอังกฤษ | คำแปล |
اَلرَّجُلُ | The man | ผู้ชายคนนั้น |
اَلطَّائِرُ | The bird | นกตัวนั้น |
اَلْمَدِيْنَةُ | The town | เมืองใหญ่นั้น |
اَلتِّمْسَاحُ | The crocodile | จระเข้ตัวนั้น |
คำนามต่างๆที่มี اَلْ นำหน้าตามตัวอย่างข้างบนนี้ จะบ่งบอกความหมายของตัวตนที่ชัดเจน ดังที่ได้เน้นตัวหนาและขีดเส้นใต้ไว้นั้น แต่ถ้าหากตัด اَلْ ในภาษาอาหรับ(หรือ The ในภาษาอังกฤษ) ออกไป ความหมายของคำนามข้างต้นก็จะไม่เน้นตัวตนที่ชัดเจน แต่จะเปลี่ยนเป็นบ่งบอกเป็นความหมายกว้างๆแทน
ซึ่งจากตัวอย่างคำนามทั้ง 5 คำนั้น หากตัด اَلْ ออกไป ก็จะเหลือดังนี้ رَجُلٌ แปลว่า ผู้ชายคนหนึ่ง (คือ จะเป็นใครก็ได้ที่มีอวัยวะเพศเพศชาย) طَائِرٌ แปลว่า นกตัวหนึ่ง (จะเป็นนกตัวไหนก็ได้) เป็นต้น
สรุปแล้ว คำทุกคำในภาษาอาหรับ หากมี اَلْ อยู่ข้างหน้า ถือว่า คำนั้นๆ เป็นคำนามทั้งสิ้น
ข. تَنْوِيْنٌ (สระคู่หรือสระซ้อน)
คำว่า ตันวีน (تَنْوِيْنٌ) ตามความเข้าใจทั่วๆไป หมายถึง “สระคู่” หรือ “สระซ้อน” ซึ่งถูกเขียนไว้ที่ “พยัญชนะตัวสุดท้าย” ของคำนามที่ไม่มี اَلْ
ทั้งนี้ เพราะ اَلْ และ تَنْوِيْنٌ จะอยู่รวมกันในคำๆเดียวกันไม่ได้
อย่างเช่นคำว่า الَمَدْرَسَةُ (โรงเรียนหลังหนึ่ง) ท่านจะอ่านหรือเขียนว่า اَلْمَدْرَسَةٌ (โดยใส่สระซ้อนที่ตัว ة)ไม่ได้
ตันวีน (تَنْوِيْنٌ) ถือเป็นเครื่องหมายเฉพาะของคำนาม (إِسْمٌ) เช่นเดียวกับ اَلْ
หมายความว่า คำใดมีตันวีนอยู่ที่พยัญชนะตัวสุดท้ายของมัน คำนั้นจะต้องเป็นคำนาม (إِسْمٌ) เสมอ
สระคู่หรือสระซ้อนดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสระ ضَمَّةٌ ซ้อนคือ (-ٌ--), หรือสระ فَتْحَةٌ ซ้อนคือ (-ً--), หรือสระ كَسْرَةٌ ซ้อนคือ (-ٍ--) เรียกว่า ตันวีน ทั้งสิ้น และอย่างที่ได้อธิบายผ่านมาแล้วว่า คำนามอิสระ-- คือยังไม่ได้เป็นส่วนประกอบของประโยคใดๆ -- พยัญชนะตัวสุดท้ายของมันจะใส่สระอะไรก็ได้ โดยความหมายจะไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ตัวอย่างคำนามที่มี “ตันวีน” ของสระทั้งสามเป็นเครื่องหมาย
فُنْدُقٌ, فُنْدُقًا, فُنْدُقٍ | โรงแรมหลังหนึ่ง |
إِمْرَأَةٌ, إِمْرَأَةً, إِمْرَأَةٍ | สตรีผู้หนึ่ง |
مُهَنْدِسٌ, مُهَنْدِسًا, مُهَنْدِسٍ | วิศวกรคนหนึ่ง |
رَطَانَةٌ, رَطَانَةً, رَطَانَةٍ | อูฐฝูงหนึ่ง |
หมายเหตุ
สิ่งที่ท่านจะต้องรับรู้ ณ ที่นี้ก็คือ ข้อเท็จจริงของคำว่า تَنْوِيْنٌ ไม่ได้หมายถึงสระคู่หรือสระซ้อน ดังที่ได้อธิบายมาตั้งแต่ต้น แต่ที่ได้อธิบายไปอย่างนั้น ก็เพื่อความสะดวกต่อการเข้าใจในขั้นต้นเท่านั้น ทว่า ความหมายจริงๆของ تَنْوِيْنٌ ก็คือ نُوْنٌ سَاكِنَةٌ (นูนตาย, นูนที่เป็นตัวสะกด) ซึ่งอยู่ที่ท้ายคำ และเป็นเสียงอ่านของสระซ้อนเหล่านั้น ส่วนสระคู่หรือสระซ้อน ถือเป็นเพียง “สัญลักษณ์” หรือ “เครื่องหมาย” แทนค่า تَنْوِيْنٌ อีกทีหนึ่ง
ค. حُرُوْفُ الْجَرِّ (หุรูฟญัรฺ)
คำว่า حُرُوْفُ الْجَرِّ เป็นพหูพจน์ของคำว่า حَرْفُ الْجَرِّ ที่ได้เคยกล่าวถึงมาแล้วในตอนต้น ท่านอาจจะสงสัยว่า หุรูฟญัรฺ (حَرْفُ الْجَرِّ) คืออะไร ?
حَرْفُ الْجَرِّ ก็คือ คำบางคำ, หรือพยัญชนะบางตัวซึ่งมีสระกำกับอยู่จนมีความหมาย .. ดังจะได้อธิบายต่อไป
ถ้าท่านเคยศึกษาไวยากรณ์ไทยหรือไวยากรณ์อังกฤษมาแล้ว ก็จะทราบได้ทันทีว่า ความหมายโดยทั่วๆไปของ “หุรุฟญัรฺ” ในภาษาอาหรับ จะตรงกับ “คำบุพบท” ในวิชาไวยากรณ์ไทย หรือคำ Preposition ในวิชาไวยากรณ์อังกฤษนั่นเอง
กฎเกณฑ์ที่ท่านจะต้องจดจำให้ขึ้นใจในที่นี้ก็คือ حَرْفُ الْجَرِّ เป็นเครื่องหมายที่ใช้ “นำหน้า” เฉพาะคำนามเท่านั้น, และจะทำหน้าที่บังคับคำนามข้างหลังให้ต้องอ่านแบบ جَرٌّ (ญัรฺ) เสมอ การอ่านแบบญัรฺ ก็คือ อ่านด้วยสระกัสเราะฮ์ (สระอี) ที่พยัญชนะตัวสุดท้ายของคำนาม
นอกจาก “สระกัสเราะฮ์” ซึ่งถือเป็นเครื่องหมายหลัก แล้ว การอ่านแบบญัรฺ ยังมี เครื่องหมายรอง อีก 2 อย่าง ดังจะได้อธิบายต่อไป การอ่านแบบญัรฺนี้ จะมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อ่านแบบ ค็อฟฎ์ (خَفْضٌ)
หากท่านอยากรู้ว่า หุรูฟญัรฺที่นำหน้าคำนามได้นั้น มีกี่ตัว ?
คำตอบก็คือ حُرُوْفُ الْجَرِّ มีทั้งหมด 20 ตัวด้วยกัน แต่ที่มักจะเจอบ่อยในตำราภาษาอาหรับและจะแนะนำให้รู้จักในขั้นต้นนี้มี 8 ตัว คือ
1. مِنْ (แปลว่า จาก, ซึ่งบ่งบอกถึงจุดเริ่มต้นการกระทำ)
2. إِلَى (แปลว่า ไปถึง, ไปยัง, ไปสู่ หมายถึงจุดสิ้นสุดการกระทำ)
3. عَنْ (แปลว่า จาก, หมายถึงแยกจาก, พรากจาก, ห่างจาก, หลุดออกจาก, ตายจาก เป็นต้น)
4. عَلَى (แปลว่า บน, ข้างบน, ด้านบน)
5. فِىْ (แปลว่า อยู่ใน, ข้างใน)
6. بِ (แปลว่า ด้วย, โดย)
7. كَ (แปลว่า เหมือน, คล้าย, เสมือน อันเป็นคำเปรียบเทียบความคล้ายคลึงของสิ่งสองสิ่ง)
8. لِ (แปลว่า เพื่อ, แก่, ให้แก่, เป็นกรรมสิทธิ์ของ, เป็นสิทธิของ, เนื่องจาก เป็นต้น)
ง. اَلْجَرُّ (อ่านแบบญัรฺ)
เครื่องหมายคำนามที่จะแนะนำเป็นข้อสุดท้ายก็คือ การอ่านแบบญัรฺ
คำว่า اَلْجَرُّ (อ่านแบบญัรฺ) กับ حَرْفُ الْجَرِّ (หุรูฟญัรฺ) มีความหมายแตกต่างกัน
“اَلْجَرُّ” หมายถึง “การอ่านด้วยสระกัสเราะฮ์” (สระอี) – หรือเครื่องหมายรองของสระกัสเราะฮ์ ดังจะได้อธิบายต่อไป -- ที่พยัญชนะตัวสุดท้ายของคำ
ส่วน “حَرْفُ الْجَرِّ” หมายถึง “คำหรือพยัญชนะที่นำหน้าคำนาม” และบังคับคำนามข้างหลังมันให้อ่านแบบญัรฺ
ตัวอย่างของคำนามที่อ่านแบบญัรฺ ก็คือตัวอย่างของคำนามที่อยู่หลังจากหุรูฟญัรฺที่ผ่านมาแล้วในคำอธิบายเรื่องหุรูฟญัรฺ จึงไม่ขออธิบายซ้ำ ณ ที่นี้อีก
ถ้าสังเกตให้ดีก็จะพบว่า มีคำนามจำนวนมากที่มีเครื่องหมายคำนามอยู่ในตัวเองไม่ใช่แค่เครื่องหมายเดียว แต่อาจจะเป็น 2 หรือ 3 เครื่องหมาย !
ตัวอย่างเช่น ประโยคที่ว่า اُنْظُرْ إِلَى لَبُوْءَةٍ : จงดูที่สิงโตตัวเมียตัวนั้นซิ !
คำว่า لَبُوْءَةٍ (สิงโตตัวเมีย) เป็นคำนาม, มีเครื่องหมายของคำนามอยู่ 3 ประการคือ มี إِلَى ซึ่งเป็นหุรูฟญัรฺนำหน้า, มีตันวีน คือสระซ้อนอยู่ที่ตัว ةٍ, และอ่านแบบญัรฺ คืออ่านด้วยสระกัสเราะฮ์ที่ตัว ة ซึ่งเป็นพยัญชนะตัวสุดท้าย หรือประโยคที่ว่า نَامَ الطَّائِرُ فِى الْعُشِّ : นกตัวนั้น นอนอยู่ในรัง
คำว่า اَلطَّائِرُ เป็นคำนาม, มีเครื่องหมายคำนามจากที่กล่าวมาแล้วเพียงประการเดียวคือมี อลีฟลาม (اَلْ) ส่วนคำว่า اَلْعُشِّ (รังนก) เป็นคำนาม, แต่มีเครื่องหมายของคำนามอยู่ 3 ประการคือ มี فِىْ ซึ่งเป็นหุรูฟญัรฺนำหน้า, มี اَلْ ข้างหน้า, และอ่านแบบญัรฺ คือมีสระกัสเราะฮ์ที่ตัว شِ ซึ่งเป็นพยัญชนะตัวสุดท้าย
คำกริยา (فِعْلٌ)
องค์ประกอบประเภทที่สองของประโยคก็คือ คำกริยา หรือ فِعْلٌ
ท่านจะต้องจำไว้เสมอว่า ลักษณะการเรียงคำของประโยคในภาษาอาหรับ จะต้องเอาคำกริยา (فِعْلٌ) ไว้ข้างหน้า และผู้กระทำ (فَاعِلٌ) จะต้องอยู่หลังคำกริยา อีกทีหนึ่ง
คำกริยา (ฟิอฺแอล : فِعْلٌ) ในภาษาอาหรับจะมี 3 ชนิดด้วยกันคือ
1. فِعْلٌ مَاضٍ (ซึ่งจะเรียกหรือเขียนเป็นคำไทยว่า ฟิอฺแอลมาฎีย์, หมายถึงกริยาอดีตกาล)
2. فِعْلٌ مُضَارِعٌ (ซึ่งจะเรียกหรือเขียนเป็นคำไทยว่า ฟิอฺแอลมุฎอเรี๊ยะอฺ, หมายถึงกริยาปัจจุบันกาลหรืออนาคตกาล)
3. فِعْلُ اْلأَمْرِ (ซึ่งจะเรียกหรือเขียนเป็นคำไทยว่า ฟิอฺแอลอะมัร, หมายถึงกริยาที่เป็นคำสั่ง)
หุรูฟ (حَرْفٌ، حُرُوْفٌ)
หุรูฟ เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของประโยค
ลักษณะของ หุรูฟ (حُرُوْفٌ) ที่จะสังเกตได้ก็คือ เป็นคำซึ่งไม่มีทั้งเครื่องหมายของคำนาม (إِسْمٌ) และไม่มีทั้งเครื่องหมายของคำกริยา (فِعْلٌ) ในตัวมัน
ตัวอย่างเปรียบเทียบง่ายๆในเรื่องนี้ ก็คือ พยัญชนะตัว ج ตัว ح และตัว خ
เรารู้จักตัว ج ก็เพราะมันมีเครื่องหมายเฉพาะตัว คือมีจุดข้างล่าง, และรู้จักตัว خ ก็เพราะมันมีเครื่องหมายเฉพาะตัว คือมีจุดข้างบน
ส่วนการรู้จักตัว ح ก็เพราะมันไม่มีทั้งเครื่องหมายของตัว ج คือจุดข้างล่าง, และไม่มีเครื่องหมายของตัว خ คือจุดข้างบน การแบ่งแยกหุรูฟ ออกจากคำนามและคำกริยา ก็อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้
หุรูฟในภาษาอาหรับ นอกจาก “หุรูฟญัรฺ” ที่อธิบายผ่านมาแล้ว ยังมีอีกหลายชนิด ซึ่งบางอย่างเราสามารถนำมาเปรียบเทียบกับหลักไวยากรณ์ของเราได้ และบางอย่างก็เปรียบเทียบไม่ได้
ในที่นี้ จะขอยกตัวอย่างหุรูฟซึ่งมีอยู่ในประโยคต่างๆดังต่อไปนี้
1. حَرْفُ اسْتِفْهَامٍ (หุรูฟใช้ในคำถาม) ตัวอย่างเช่นประโยคว่า هَلْ تَغَذَّيْتَ ؟ : แปลว่า คุณทานอาหารกลางวันแล้วหรือยัง ?
2. حَرْفُ عَطْفٍ (หุรูฟใช้เชื่อมคำ หรือที่เรียกในไวยากรณ์ไทยว่าคำสันธาน) ตัวอย่างเช่นประโยคว่า
وَصَلَ الْمُعَلِّمُوْنَ وَالطَّلَبَةُ الْمَدْرَسَةَ : แปลว่า บรรดาครู และ บรรดานักเรียนไปถึงโรงเรียนแล้ว
3. حَرْفُ نَهْىٍ (หุรูฟใช้ในการห้าม) ตัวอย่างเช่นประโยคว่า
لاَ تَأْكُلْ وَأَنْتَ تَعْبَانُ : แปลว่า คุณ อย่า กิน ขณะคุณกำลังเหนื่อยจัด
4. حَرْفُ تَحْقِيْقٍ (หุรูฟใช้ยืนยัน) ตัวอย่างเช่นประโยคว่า
قَدْ أَفْلَحَ مَنْ زَكَّاهَا : แปลว่า แน่นอน ผู้ขัดเกลามัน(กิเลส) ต้องประสบความสำเร็จ
5. حَرْفُ قَسَمٍ (หุรูฟใช้ในการสาบาน) .. ตัวอย่างเช่นประโยคว่า
وَاللهِ! لَكَانَ مِنَ الْكَاذِبِيْنَ : ขอสาบาน ด้วยพระองค์อัลลอฮ์ ! เขาโกหกแน่นอน เป็นต้น คำว่า هَلْ (หรือยัง), وَ (และ), لاَ (อย่า), قَدْ (แน่นอน) และ وَ (ขอสาบาน) ทั้งหมดนั้น ถือเป็นหุรูฟทั้งสิ้น
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น