ประกาศข่าว ยังไม่มีข่าวใหม่ครับ

Widgets

กระแส‘ปฏิวัติดอกมะลิ’ ในโลกอาหรับ(1)

       ช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาโลกอาหรับต้องเผชิญกับกระแสการชุมนุมประท้วงของประชาชนซึ่งเริ่มขึ้นที่ตูนิเซียก่อนจนทำให้ประธานาธิบดีซัยนุลอาบิดีนบิน  อาลีต้องลี้ภัยไปอยู่ในซาอุดิอาระเบียต่อมากระแสการลุกฮือก็เคลื่อนตัวไปยังอียิปต์จนทำให้ประธานาธิบดีฮุสนีมุบารัคซึ่งครองอำนาจมายาวนาน30 ปีต้องยอมลงจากอำนาจภายในช่วงเวลาแค่18 วัน
       ความจริงกระแสการลุกฮือขึ้นของประชาชนได้แพร่ขยายต่อไปอีกหลายประเทศในย่านตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือดังจะเห็นได้ว่าจากสมาชิกขององค์การสันนิบาตอาหรับ(Arab League) ที่มีอยู่22 ประเทศมีอยู่เพียงแค่4 ประเทศเท่านั้นที่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวของประชาชนนั่นหมายความว่านับจากการเริ่มต้นในตูนิเซียมีชาติอาหรับรวม18 ประเทศแล้วที่ประชาชนต่างลุกฮือขึ้นชุมนุมประท้วงทั้งที่เป็นการชุมนุมประท้วงแบบเล็กๆน้อยๆไม่ต่อเนื่องและเป็นการชุมนุมของประชาชนจำนวนมหาศาลที่มีความยืดเยื้อ
       สำหรับข้อเรียกร้องของการชุมนุมประท้วงของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันออกไปบางส่วนเป็นการประท้วงขับไล่ผู้นำฉ้อฉลหรือระบอบที่ผูกขาดอำนาจมานานบ้างก็ลุกขึ้นประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองเรียกร้องการมีส่วนร่วมของประชาชนและการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพบ้างก็ยกประเด็นการแบ่งสรรอำนาจระหว่างกลุ่มชนที่มีความหลากหลายภายในประเทศ(เช่นเลบานอน) ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวแต่ในกรณีของปาเลสไตน์นั้นกลับปรากฏว่าประชาชนลุกขึ้นเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งทางการเมืองหันมาปรองดองกันและสร้างรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเพื่อประโยชน์ของรัฐปาเลสไตน์ในอนาคต
       ในเมื่อลักษณะและข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมประท้วงมีความหลากหลายแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับเงื่อนไขภายในของแต่ละประเทศดังนั้นจึงไม่แปลกที่แนวทางการรับมือของแต่ละรัฐบาลของโลกอาหรับย่อมเป็นไปอย่างหลากหลายเช่นกันบางรัฐบาลเลือกที่จะฟังเสียงประชาชนมากขึ้นมีการต่อรองเพื่อลดทอนอำนาจของตนเองลงบ้างแม้จะไม่ทั้งหมดก็ตามเช่นกรณีของจอร์แดนและโมร็อกโกเป็นต้นบางรัฐบาลที่ร่ำรวยต่างทยอยออกมาเสนอนโยบายประชานิยมเพิ่มเงินงบประมาณด้านสวัสดิการหรือแม้กระทั่งการแจกจ่ายเงินทองแบบให้เปล่าบางรัฐบาลก็เลือกใช้มาตรการปราบปรามอย่างไร้ซึ่งความปราณีจนทำให้เกิดการนองเลือดแต่ก็มีอีกหลายรัฐบาลที่ใช้ทั้ง3 แนวทางควบคู่ผสมปนเปกันไป
       การชุมนุมประท้วงของชาวอาหรับเริ่มขึ้นที่ตูนิเซียก่อนเป็นประเทศแรกซึ่งถูกจุดประกายจากเหตุการณ์การเผาตัวตายของหนุ่มวัย26 ปีผู้มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแต่ต้องทำมาหากินด้วยการเข็นรถขายผลไม้เพื่อเลี้ยงชีพสมาชิกครอบครัวทั้งหมดแม้เขาพยายามประกอบอาชีพสุจริตแต่ก็ถูกตำรวจยึดรถเข็นไปในข้อหาไม่มีใบอนุญาตครั้นเขาไปร้องเรียนกลับถูกเจ้าหน้าที่ทุบตีทำร้ายจนเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ

ภาพของโมฮัมเหม็ด บูอาซิซี ยังคงถูกแขวนไว้บริเวณหน้าศาลาว่าการเมืองซิดี บูชิด ในฐานะ"แรงบันดาลใจ"ที่ก่อให้เกิดกระแสคลื่นแห่งการปฏิวัติอาหรับ (ภาพ: Noor FOR TIME)
       ความคับแค้นดังกล่าวถูกถ่ายทอดกันต่อๆไปบนหน้าเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ทำให้คนหนุ่มสาวที่ส่วนใหญ่เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วแต่ไม่มีงานทำพากันออกมาประท้วงตามท้องถนนอย่างกว้างขวางดังปฏิกิริยาลูกโซ่และภายในระยะเพียงเดือนเดียวก็สามารถโค่นล้มผู้นำเผด็จการลงได้เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้กำแพงแห่งความหวาดกลัว” ซึ่งถูกสร้างขึ้นจากโครงข่ายอำนาจทหารและตำรวจลับของรัฐตลอดช่วงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของโลกอาหรับถูกทลายลงอย่างเหลือเชื่อ


ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลตูนิเซียโบกธงชาติ เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554
        ชัยชนะอย่างงดงามของพลังประชาชนในตูนิเซียที่ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อของมวลชนมากกว่า100ชีวิตถือเป็น"แรงบันดาลใจชั้นดี" ให้แก่ประชาชนในหลายประเทศของโลกอาหรับที่ต่างประสบชะตากรรมที่ไม่ต่างกันมากนักจากการถูกปกครองแบบกดขี่โดยรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมมายาวนาน

        แรงบันดาลใจที่ว่าอาจเห็นได้จากการที่ประชาชนคนอาหรับได้เคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันอีก12 ประเทศหลังเห็นความสำเร็จของตูนิเซียต่อมาเมื่อการปฏิวัติเกิดขึ้นในอียิปต์อีกเมื่อวันที่18 กุมภาพันธ์2011 กระแสการปฏิวัติก็ลุกลามออกไปอย่างถ้วนทั่วไม่เว้นแม้แต่กลุ่มประเทศที่ร่ำรวยน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย
      คำถามคือ"โดมิโนตัวต่อไป"จะล้มลงณดินแดนแห่งใดในโลกอาหรับเพราะดูเหมือนในเวลานี้กระแสของการเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพและกระแสต่อต้านคณะผู้ปกครองที่ฉ้อฉลไร้ศักยภาพดูจะทวีกำลังรุนแรงมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกอาหรับ
      อย่างไรก็ตามกระแสการลุกฮือขึ้นประท้วงของประชาชนคนอาหรับอาจไม่ได้มีผลลัพธ์เหมือนตูนิเซียและอียิปต์เสมอไปเพราะถึงแม้ว่ากลุ่มประเทศในโลกอาหรับจะมีปัจจัยเชิงโครงสร้างของปัญหา(Structural factors) ที่คล้ายๆกันแต่กลับมีปัจจัยเชิงสถานการณ์(Situational factors) ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ
       กล่าวคือกลุ่มประเทศในโลกอาหรับนั้นมีลักษณะปัญหาเชิงโครงสร้างที่คล้ายกันอยู่หลายประการเช่นมีประชากรที่เป็นคนหนุ่มสาวจำนวนมากและมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้เป็นคนว่างงานไม่มีรายได้ในขณะที่ต้องเผชิญกับราคาอาหารที่สูงขึ้นเพราะการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกภาวะเงินเฟ้อในประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ในโลกอาหรับมีฐานะยากจน
       ในทางการเมืองประเทศเหล่านี้อยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการมีผู้นำที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานอันส่งผลให้ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองถือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐ
       แต่ในขณะเดียวกันสถานการณ์ภายในของแต่ละประเทศกลับมีความแตกต่างกันออกไปอย่างมีนัยเช่นก่อนการปฏิวัติอียิปต์ปรากฏว่ามีหลายเหตุการณ์ที่เอื้อต่อความเป็นเอกภาพและความสำเร็จของประชาชนยกตัวอย่างเช่นการเลือกตั้งรัฐสภาฯเมื่อช่วงปลายปี2010 รัฐบาลได้โกงการเลือกตั้งครั้งใหญ่ซึ่งถูกมองว่าเป็นการปูทางไปสู่การถ่ายโอนอำนาจจากฮุสนีมุบารัคไปให้ลูกชายจนก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจของประชาชนอย่างรุนแรง
       นอกจากนั้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าขบวนการภาคประชาชนของอียิปต์มีความเข้มแข็งมากขึ้นดูได้จากจำนวนการชุมนุมประท้วงของประชาชนต่างกรรมต่างวาระที่เกิดขึ้นในอียิปต์ช่วงปี2010 นั้นมีมากกว่า600 ครั้งเมื่อบวกกับปัจจัยปัญหาเชิงโครงสร้างดังที่ได้กล่าวไปแล้วจึงทำให้การปฏิวัติของอียิปต์ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วภายในช่วงเวลาแค่18 วัน
       แต่สถานการณ์ภายในของลิเบียซีเรียเยเมนและอื่นๆนั้นแตกต่างการที่ประชากรของแต่ละประเทศแบ่งเป็นกลุ่มก้อนที่ขัดแย้งกันมีนิกายทางศาสนาที่แตกต่างกันมีประชาชนคนกลุ่มน้อยที่คอยผูกขาดอำนาจเพื่อปกครองคนกลุ่มใหญ่ความรู้สึกแบบชนเผ่าที่มีอยู่สูงและการไม่มีสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งพอฯลฯประเทศเหล่านี้แม้จะมีการชุมนุมประท้วงอย่างสงบในระยะแรกแต่ก็แปรสภาพไปเป็นความรุนแรงอย่างรวดเร็ว(บางประเทศเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง)
       ขณะที่อีกบางประเทศสถานการณ์ภายในกลับเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอีกลักษณะหนึ่งที่เรียกว่าแบบบนลงล่าง(Top-down)คือในกรณีของอียิปต์และตูนิเซียนั้นสถานการณ์ภายในเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบล่างขึ้นบน(Bottom-up) หรือการโค่นล้มระบอบเดิมจากการเคลื่อนไหวของมวลชนเป็นหลักแต่กรณีของโมร็อกโกปรากฏว่าหลังมีการชุมนุมประท้วงสมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่6 จึงทรงแถลงข้อเสนอในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญหลายมาตราซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการถ่ายโอนอำนาจของกษัตริย์ให้แก่นายกรัฐมนตรีและรัฐสภาอันเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ“บนลงล่าง”
       แต่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติในโมร็อกโกดังกล่าวก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วนความจริงนโยบายการปฏิรูปการเมืองในโมร็อกโกได้เริ่มดำเนินการมาบ้างแล้วตลอดช่วงเวลากว่า10 ปีที่ผ่านมาหลังการขึ้นครองราชของกษัตริย์องค์ปัจจุบันอีกทั้งราชวงศ์เองก็เป็นที่ยอมรับและเคารพของประชาชนคนส่วนใหญ่ประการหนึ่งเพราะเป็นตระกูลที่ถูกอ้างว่าสืบเชื้อสายมาจากศาสนทูตมุฮัมมัดและอีกประการหนึ่งเป็นเพราะกษัตริย์องค์ก่อนยังเป็นขวัญใจของปวงชนเพราะเคยต่อสู้กับจักรวรรดิ์นิยมจนประเทศได้รับเอกราช
       เพราะฉะนั้นผลลัพธ์ของการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นในโมร็อกโกจึงปรากฏออกมาอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนอียิปต์และตูนิเซียและไม่เหมือนลิเบียเยเมนซีเรียฯลฯซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเชิงสถานการณ์ภายในถึงแม้ว่าโมร็อกโกจะมีปัญหาที่เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างคล้ายๆกับอีกหลายประเทศอาหรับก็ตาม
       ลักษณะพิเศษของการชุมนุมประท้วงในโลกอาหรับครั้งนี้มีความน่าสนใจอยู่หลายประการแต่ที่เห็นเด่นชัดคือการรวมตัวกันของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ไร้การจัดตั้งและไม่มีแกนนำมวลชนอย่างที่เคยเห็นกันทั่วไปในส่วนอื่นๆของโลกนอกจากนั้นองค์ประกอบของผู้ชุมนุมยังมีความหลากหลายมีทั้งนักประชาธิปไตยพวกนิยมแนวทางเซคคิวล่าร์พวกนิยมแนวทางศาสนาพวกฝ่ายซ้าย ฯลฯ
       ลักษณะเช่นนี้แม้ว่าจะสะท้อนให้เห็นถึง“สำนึกทางการเมือง” ของเยาวชนอาหรับที่เพิ่มสูงขึ้นในด้านหนึ่งและสะท้อนถึงความเป็นเอกภาพของประชาชนคนอาหรับในอีกด้านหนึ่งแต่ก็ทำให้อดที่จะนึกสงสัยไม่ได้ว่าหลังการโค่นล้มระบอบเก่าลงไปอาจก่อให้เกิดช่องว่างของอำนาจที่สุ่มเสี่ยงต่อการแย่งชิงต่อสู้กันระหว่างฝ่ายต่างๆจนในที่สุดก็อาจจบลงด้วยระบอบเผด็จการครองเมืองเหมือนเดิม
       อย่างไรก็ตามโลกอาหรับนั้นผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งในยุคประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่เริ่มต้นจากความพยายามที่จะปลดแอกตนเองจากการปกครองของอาณาจักรออตโตมานเติร์กในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่1 โดยร่วมมือกับจักรวรรดิ์นิยมอังกฤษที่ให้สัญญาอาหรับว่าหากตนเองชนะสงครามจะปลดปล่อยดินแดนอาหรับให้เป็นเอกราชแต่ท้ายที่สุดชาวอาหรับก็ถูกบิดพริ้ว
       เมื่อการปกครองโดยอาณาจักรออตโตมานซึ่งเป็นมุสลิมเหมือนกันได้สิ้นสุดลงมหาอำนาจตะวันตกจึงเข้ามาแทนที่ในฐานะเจ้าอาณานิคมดินแดนอาหรับถูกแบ่งย่อยออกเป็นรัฐ-ชาติต่างๆตามการต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ในหมู่ชาติมหาอำนาจเกียรติยศศักดิ์ศรีของคนอาหรับถูกลบหลู่โดยเฉพาะกรณีการสูญเสียดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกชาวยิวอพยพแย่งชิงไปต่อหน้าต่อตาด้วยการช่วยเหลือของบรรดามหาอำนาจทั้งหลาย
       เมื่อเป็นเช่นนี้ปฏิบัติการลุกฮือขึ้นต่อต้านจักรวรรดิ์นิยมจึงเริ่มต้นขึ้นในหลายรูปแบบอันมีเป้าหมายสุดท้ายที่อิสรภาพเสรีภาพและการกอบกู้เกียรติยศศักดิ์ศรีกลับคืนมาจนประสบความสำเร็จในที่สุด
       หลังจากที่ดินแดนอาหรับต่างๆได้รับเอกราชกระแสชาตินิยมอาหรับได้เข้ามาแทนที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกหลายประเทศที่ผู้นำอ้างตนเป็นกษัตริย์ถูกนายทหารหนุ่มซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนโค่นล้มผู้นำทหารที่ขึ้นมามีอำนาจต่างให้คำมั่นสัญญาเรื่องอิสรภาพเสรีภาพและเอกภาพในหมู่ประชาชนคนอาหรับทั้งมวลแต่สุดท้ายก็จบลงด้วยระบอบอำนาจนิยมเผด็จการซึ่งได้สร้างเครือข่ายการคอร์รัปชั่นไว้อย่างถ้วนทั่ว
       ฉะนั้นปรากฏการณ์การลุกฮือขึ้นของประชาชนคนอาหรับในครั้งนี้จึงมิอาจจะมองอย่างผิวเผินว่ามิได้มีเค้าลางมาแต่อดีตแต่เป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องที่มีรูปแบบและวิธีการในการเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชนที่แตกต่างจากยุคก่อนดังนั้นสิ่งที่ปรากฏขึ้นในปัจจุบันจึงอาจเรียกได้ว่าเป็น“Arab Unfinished Revolution” หรือ“การปฏิวัติอาหรับที่ยังไม่เสร็จสิ้น” ซึ่ง    เป้าหมายของชุดการปฏิวัติครั้งต่างๆนี้ก็คืออิสรภาพเสรีภาพและการกอบกู้เกียรติยศศักดิ์ศรีของชาวอาหรับนั่นเอง
       การปฏิวัติครั้งปัจจุบันจะบรรลุความสำเร็จตามที่ชาวอาหรับคาดหวังไว้หรือไม่ระบอบที่ถูกโค่นลงไปจะถูกแทนที่ด้วยอะไร?และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกำลังนำไปสู่อะไรมีผลกระทบในระยะยาวอย่างไรต่อภูมิภาคและต่อโลก?
เป็นเรื่องที่ผู้เขียนจะได้นำเสนอในบทความตอนต่อๆไป....
อ้างอิงจาก  ศูนย์อิสลามศึกษา  มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต http://islamic.kbu.ac.th
คำสำคัญ/เนื้อหาเพิ่มเติม :  การปฎิวัติในตูนีเซีย, การปฎิวัติอียิปต์ พ.ศ. 2554, สงครามการเมืองลิเีบีย พ.ศ. 2554, มูอัมมาร์ กัดดาฟีย์, ฮุสนี มุบาร็อก,

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น